เกษตรฯ จับมือยกเครื่อง “ห้องแลป” ทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารเฟส 2

Logo Thai PBS
เกษตรฯ จับมือยกเครื่อง “ห้องแลป” ทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารเฟส 2

มกอช.-ประมง-ปศุสัตว์จับมือลงนามร่วมพัฒนาขีดความสามารถ “ห้องแลป” สินค้าเกษตรและอาหารเฟส 2 มุ่งดัน Lab ภาครัฐ 4 แห่ง สู่การเป็นผู้จัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย พร้อมหนุนส่งออกสินค้าคุณภาพ-ปลอดภัย ป้อนตลาดโลก

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. กรมประมงและกรมปศุสัตว์ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมดำเนินโครงการพัฒนาขีดความสามารถห้องปฏิบัติการ(Lab)ทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารของกรมประมงและกรมปศุสัตว์ เพื่อเข้าสู่การเป็นผู้จัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ (Proficiency Testing Provider) เฟส 2 โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพห้อง Lab ทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารภาครัฐ 4 แห่ง ประกอบด้วย ห้อง Lab ของสถาบันวิจัยอาหารสัตว์น้ำจืด กรมประมง และของสำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์  3  แห่ง ได้แก่ กลุ่มตรวจสอบคุณภาพนมและผลิตภัณฑ์นมรายการทดสอบ SPC และโคลิฟอร์มในน้ำนมดิบ(ทดสอบทางจุลชีววิทยา) กลุ่มตรวจสอบคุณภาพเนื้อสัตว์และผลผลิตจากสัตว์(ทดสอบทางเคมีและทดสอบจุลชีววิทยา) รายการทดสอบยาฆ่าแมลง และกลุ่มตรวจสอบเชื้อจุลินทรีย์ในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์

ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการบริหารจัดการห้อง Lab ดังกล่าว ให้มีความพร้อมในการจัดการด้านวิชาการตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17043:2010 เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้จัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สินค้าเกษตรด้านจุลินทรีย์ และด้านเคมีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด  ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุม กำกับดูแลห้อง Lab เอกชนที่รับการถ่ายโอนงานจากภาครัฐ ขณะเดียวกันยังช่วยให้ภาคเอกชน สามารถเข้าร่วมโปรแกรมทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการกับหน่วยงานภายในประเทศได้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และลดการพึ่งพาการใช้บริการโปรแกรมทดสอบฯจากหน่วยงานต่างประเทศ อาทิ Food Examination Performance Assessment Scheme (FEPAS) และ Food Analysis Performance Assessment Scheme (FAPAS) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

“โครงการฯ เฟสที่ 2 นี้ มกอช.จะสนับสนุนด้านวิชาการโดยจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำการจัดทำระบบคุณภาพด้านบริหารจัดการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17043:2010 แก่ห้อง Lab ทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารภาครัฐทั้ง 4 แห่ง พร้อมให้คำปรึกษาด้านวิชาการในการจัดทำเอกสารให้สมบูรณ์และเตรียมตัวอย่างทดสอบความชำนาญและการประเมินผลทางสถิติ เพื่อให้พร้อมก่อนที่จะยื่นขอการรับรองความสามารถของห้องแลปต่อไป ซึ่งคาดว่า จะสามารถช่วยผลักดันขีดความสามารถห้องแลป ของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น” นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัยกล่าว

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยจัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญที่ได้รับการรับรองในประเทศไทยมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น ที่มีขอบข่ายทางด้านอาหารและได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล แต่มีรายการทดสอบที่ให้บริการได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของห้อง Lab ภายในประเทศที่มีรายการทดสอบหลากหลาย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาศักยภาพห้อง  Lab ให้เข้าสู่การเป็นผู้จัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการด้านสินค้าเกษตรและอาหาร  ให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17043:2010 โดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า และสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยป้อนสู่ตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งยังคาดว่าจะได้ข้อมูลใช้เป็นแนวทางการพัฒนาห้องแลป ภาครัฐสู่การเป็นผู้จัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการเพิ่มมากขึ้น และเป็นแบบอย่างในการพัฒนาห้อง Lab ที่สามารถให้บริการรายการทดสอบที่หลากหลายต่อความต้องการของห้อง Lab ที่เพิ่มสูงขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง