นักวิชาการมองแก้ กม.หลักประกันสุขภาพฯขยายมาตรา 41 เพิ่มภาระให้ สปสช.

9 ก.พ. 55
14:07
5
Logo Thai PBS
นักวิชาการมองแก้ กม.หลักประกันสุขภาพฯขยายมาตรา 41 เพิ่มภาระให้ สปสช.

ข้อเสนอของแพทยสภาที่ต้องการให้บอร์ด สปสช.แก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขยายมาตรา41 เพื่อจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นให้ครอบคลุมผู้ประกันตน และสวัสดิการข้าราชการ ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ถูกตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการว่าเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเพิ่มภาระงบประมาณให้กับ สปสช.

เกือบ 2 ปีแล้วที่ เกษร พุ่มแจ่ม รับจ้างเย็บผ้าอยู่กับบ้าน แทนการไปทำงานประจำในโรงงานเย็บผ้า หลังมีอาการหน้ามืดบ่อยครั้ง รวมถึงปวดหลัง และปวดเอว เมื่อต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน เกษรเชื่อว่าเป็นเพราะภาวะข้างเคียงของไตข้างขวาที่หายไป จากการผ่าตัดช็อคโกแล็ตซีสต์บริเวณใต้รังไข่ด้านขวา ในโรงพยาบาลเอกชน ที่เธอเป็นผู้ประกันตน เมื่อกลางปี 2549

แม้ผลอัลต้าซาวด์ก่อนเข้ารับการผ่าตัดของโรงพยาบาลอีกแห่งจะยืนยันชัดเจนว่าเธอมีไตครบทั้ง 2 ข้าง แต่โรงพยาบาลเอกชนที่ทำการผ่าตัดก็ปฏิเสธไม่ให้การช่วยเหลือเยียวยา โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะเธอไม่มีไตข้างขวาตั้งแต่กำเนิด เธอจึงยื่นฟ้องเรียกค่าชดเชยความเสียหาย ซึ่งขณะนี้ผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

การเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น โดยที่ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องในชั้นศาล เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการต้องการ หลังผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 มาแล้วกว่า 8 ปี

ล่าสุด แพทยสภาพยายามผลักดันให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช.เสนอแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วยการขยายมาตรา 41 เพื่อจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นให้ครอบคลุมผู้ประกันตน และข้าราชการอีก 16 ล้านคน ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ โดยเพิ่มวงเงินเยียวยาสูงสุดจาก 200,000 บาท เป็น 2,000,000 บาท

ความไม่เป็นธรรมในการบริหารงบประมาณของ สปสช.จะเกิดขึ้นทันที หากขยายสิทธิการเยียวยาไปยังกลุ่มผู้ประกันตน และสวัสดิการข้าราชการ เพราะเงินในกองทุนตามมาตรา 41 เจียดมาจากค่าเหมายจ่ายรายหัวของผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 48 ล้านคนหรือปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่ง ศ.อัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอเห็นว่าไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง และยังเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณให้กับ สปสช.

ศ.อัมมาร ยังเสนอให้บอร์ด สปสช.ยกเลิกความคิดเสนอแก้กฎหมาย ขยายมาตรา 41 เพราะเป็นแค่การจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้น ไม่ใช่การจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย จึงไม่สามารถช่วยลดอัตราการฟ้องร้องแพทย์ได้ ขณะเดียวกัน กฎหมายนี้ก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงผู้เสียหายในกลุ่มที่จ่ายเงินค่ารักษาเอง ดังนั้นควรเร่งผลักดัน ร่างกฎหมายคุ้มครองครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ครอบคลุมความเสียหายกับทุกกลุ่มคน โดยมีสถานพยาบาลเอกชนร่วมจ่ายค่าประกันความเสี่ยงเข้ากองทุนนี้ด้วย
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง