"เสรี" คาดพายุเพิ่มขึ้น ในปรากฏการณ์ "ลานินญ่า"

Logo Thai PBS
"เสรี" คาดพายุเพิ่มขึ้น ในปรากฏการณ์ "ลานินญ่า"

โรคฉี่หนูถือเป็นโรคที่มีเฝ้าระวังมากที่สุดในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา แม้ปีที่ผ่านมาจะไม่มีการระบาด แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ด้าน "เสรี" ระบุ ไทยอาจจะเผชิญภัยแล้งหนักกว่าน้ำท่วม ในภาวะเปลี่ยนผ่านเอลนิญโญ ด้วยปรากฏการณ์พายุจะเกิดมากขึ้น

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในการเสวนาวิชาการ เรื่องผลของน้ำท่วมต่อสุขภาพและงานวิจัยเพื่อรับมือ ว่า แม้จะมีการหาพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่ในลุ่มน้ำภาคกลาง แต่ก็อาจจะไม่สามารถรองรับน้ำได้ทั้งหมด ถ้าน้ำมีปริมาณมาก ขณะที่การพยากรณ์ภูมิอากาศที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดพายุหรือไม่ ภายหลังปรากฏการณ์ลานินญ่า มักมีความเสี่ยงจะเกิดพายุมากขึ้น แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า จะเกิดขึ้นที่ไหน และเมื่อไร

การเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงวิชาการที่ได้จากงานวิจัยของนักวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้วิจัยจากการสุ่มตรวจผู้ที่สัมผัสกับน้ำท่วม และหาเชื้อโรคในพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยพบว่า ปีที่ผ่านมาไม่พบการระบาดของเชื้อเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นโรคที่วงการแพทย์และสาธารณสุขเฝ้าระวังมากที่สุด

โดยโรคที่พบมากช่วงน้ำท่วม คือน้ำกัดเท้า และการติดเชื้อทางบาดแผล ส่วนโรคไข้เลือดออก พบไม่มาก เนื่องจากลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะอยู่ในน้ำใสสะอาด แต่จะพบยุงชนิดนี้หลังน้ำท่วม โดยยุงที่พบมากที่สุดในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม คือยุงรำคาญ เพราะลูกน้ำอยู่ในน้ำขังที่เน่าเสีย เป็นยุงพาหะของโรคไข้สมองอักเสบ ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ สวทช. ผลิตจุลินทรีย์ที่เป็นแบคทีเรียแบซิลัส สะเฟียริคัส 1593 เพื่อกำจัดยุงรำคาญขึ้นครั้งแรก 7,000 ลิตร ใช้ฉีดพ่นบนผิวน้ำเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ แต่ได้ผลในน้ำที่ไม่สูงนัก โดยจะผลิตเพิ่มอีก 50,000 ลิตร

การศึกษาวิจัยของนักวิชาการดังกล่าวจะเป็นข้อมูลสำหรับต่อยอด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอีก จากการต้องเฝ้าระวังโรคฉี่หนู ซึ่งโรคนี้จะทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงชีวิต และโรคอุจจาระร่วงได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง