วันนี้ปิดฉากนกขมิ้นทัวร์ของนายกฯ ประชุมผู้ว่าฯพื้นที่ปลายน้ำ-กทม.จัดการน้ำท่วม

สังคม
17 ก.พ. 55
00:51
7
Logo Thai PBS
วันนี้ปิดฉากนกขมิ้นทัวร์ของนายกฯ ประชุมผู้ว่าฯพื้นที่ปลายน้ำ-กทม.จัดการน้ำท่วม

ก่อนปิดแผนการเดินทางติดตามการแก้ปัญหาอุทกภัยในวันนี้ ( 17 ก.พ.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของภารกิจตรวจสถานการณ์น้ำ เมื่อวานนี้ ( 16 ก.พ.) นายกรัฐมนตรีได้ประชุมร่วมกับกลุ่มจังหวัดพื้นที่กลางน้ำตอนล่างโดยกำชับ 4 แผน เพื่อป้องกันน้ำท่วมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ขณะที่กลุ่มจังหวัดพื้นที่กลางน้ำเสนอพื้นที่รับน้ำเพิ่มเติมอีก 960,000 ไร่ ทำให้พื้นที่รับน้ำตอนนี้มีแล้ว 1,430,000ไร่ จากกำหนดไว้ 2 ล้านไร่

วันนี้ ( 17 ก.พ.) จะเป็นวันที่ 5 ของการลงพื้นที่เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำตามภารกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการสรุปแผนการติดตามสถานการณ์อุทกภัย โดยนัดหมายรับฟังผลการประชุมแผนงาน และโครงการป้องกันน้ำท่วมในจังหวัดพื้นที่ปลายน้ำตอนล่างจากผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะเดินทางไปร่วมประชุมด้วย

โดยนัดหมายให้มีการประชุมที่โรงแรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจากนั้นนายกรัฐมนตรี และคณะจะร่วมกันแถลงข่าวผลการตรวจราชการต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ก่อนจะเดินทางไปยังบริเวณประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ จังหวัดปทุมธานี เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการคันกั้นน้ำพระราชดำริ การปรับปรุง และการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ

ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับแผนบริหารจัดการน้ำที่มีการประชุมกันเมื่อวานนี้หลังลงพื้นที่ในจังหวัดลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา นายกรัฐมนตรี ได้สรุปแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต้นน้ำและกลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่การปรับปรุงหลักเกณฑ์การควบคุมระดับน้ำในเขื่อน,การระบายหรือผันน้ำต้องเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายน้ำ

พร้อมกันนั้นได้กำชับการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนเมือง ส่วนการกำหนดพื้นที่รับน้ำต้องกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด โดยพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิงนั้น จนถึงขณะนี้สามารถรวบรวมจากกลุ่มจังหวัดต้นน้ำ รวม 470,000 ไร่ รวมกับพื้นที่กลางน้ำที่มีการเสนอเพิ่มเติม รวมทั้งหมดเป็น เป็น 1,430,000 ไร่จาก 2 ล้านไร่ตามที่วางแผนไว้

แม้นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด แต่ชาวนาหลายคนในอำเภอบางบาลยังไม่มั่นใจว่า จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้เพราะพื้นที่ อำเภอบางบาล ผักไห่ เสนา เป็นพื้นที่ต่ำบางส่วนเป็นแอ่งกระทะน้ำท่วมทุกปี จึงไม่คาดหวังว่าน้ำจะไม่ท่วมแต่ขอให้นายกรัฐมนตรีหาแนวทางให้ชาวนาสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้งตามเดิม

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง