ตร.เข้าค้นองค์กรธุรกิจกว่า 20 แห่ง พบข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

อาชญากรรม
21 ก.พ. 55
12:03
57
Logo Thai PBS
ตร.เข้าค้นองค์กรธุรกิจกว่า 20 แห่ง พบข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

พ.ต.อ. ชัยณรงค์  เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษกของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ รวมจำนวนกว่า 20 แห่ง การเข้าตรวจค้นระลอกใหม่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หนึ่งในบริษัทที่ถูกตรวจค้น คือบริษัทรับทำแอนิเมชั่นแห่งหนึ่งซึ่งเป็นผู้ผลิตรายการการ์ตูนสำหรับเด็กที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ออกแบบบนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 30 เครื่อง  บริษัทอีกแห่งหนึ่งที่ถูกตรวจค้น คือผู้ผลิตข้าวหอมมะลิรายใหญ่ เจ้าหน้าที่ตำรวจพบการใช้งานซอฟต์แวร์ออกแบบละเมิดลิขสิทธิ์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของแผนกวิศวกรรม จำนวน 36 เครื่อง บริษัทแห่งนี้มีรายรับในปีพ.ศ. 2554 กว่า 7,000 ล้านบาท โรงงานผลิตสินค้าอีกแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ถูกตำรวจเข้าตรวจค้นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ด้วยเช่นกัน ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาเตือนก่อนหน้านี้แล้วว่ากำลังจับตามองนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันนออกอยู่อย่างใกล้ชิด เนื่องจากได้รับการร้องเรียนเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เข้ามามาก โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกอีกแห่งหนึ่ง ก็ถูกตรวจพบว่าละเมิดลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์หลายชนิดบนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 69 เครื่อง  ในรายงานการเงินฉบับล่าสุด บริษัทแห่งนี้มีรายรับกว่า 531 ล้านบาท

 “บริษัทที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เหล่านี้ขาดกระบวนการบริหารจัดการซอฟต์แวร์ที่ดีพอบริษัทที่ตำรวจกำลังสืบสวน รวบรวมหลักฐาน การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ในขณะนี้หลายแห่งมีรายรับในแต่ละปีสูงมาก แสดงให้เห็นว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์น่าจะเกิดจากการขาดมาตรการควบคุมการใช้งานซอฟต์แวร์ มากกว่าการมีงบประมาณจัดซื้อซอฟต์แวร์ไม่เพียงพอ บริษัทจะไม่ถูกร้องเรียนหรือฟ้องร้องทางกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ หากใช้แต่ซอฟต์แวร์ของแท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ทั้งยังปลอดภัยจากมัลแวร์และความเสี่ยงด้านอื่นๆ อีกด้วย ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ของแท้ ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายนั้นคุ้มค่ากับความสบายใจที่บริษัทจะได้รับ” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว “นอกจากนี้ยังแสดงว่าบริษัทมี      ธรรมาภิบาลอีกด้วย ผมเชื่อว่าบริษัทไทยทุกแห่งสามารถประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องใช้ซอฟต์แวร์ที่ขโมยเขามา” ”  พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเอาชนะฮ่องกง และลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงให้ได้มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก  ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 80 ในปีพ.ศ. 2549 เหลือร้อยละ 73 ในปีพ.ศ. 2553 แสดงให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจมีการใช้งานซอฟต์แวร์ของแท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น

ในปีพ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยถูกตรวจค้นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ คิดเป็นมูลค่าซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดรวมกันกว่า 500 ล้านบาท  ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ไทย พ.ศ. 2537 การละเมิดโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีบทลงโทษทั้งจำและหรือปรับ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง