"อภิสิทธิ์" แนะตั้งหลักแก้ รธน. ใหม่ ให้ทุกฝ่ายสบายใจ ไม่สร้างปมความขัดแย้ง

การเมือง
24 ก.พ. 55
10:08
21
Logo Thai PBS
"อภิสิทธิ์" แนะตั้งหลักแก้ รธน. ใหม่ ให้ทุกฝ่ายสบายใจ ไม่สร้างปมความขัดแย้ง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่า การที่จะเปลี่ยนใจใครในสภาฯ ตอนนี้คงยาก ต่างฝ่ายต่างก็ค่อนข้างมีจุดยืนที่ชัดเจนของตนเอง เพียงแต่ว่าขณะนี้ผมว่ายังมีคำถามอยู่มากที่ทางรัฐบาลยังไม่มีคำตอบ นั่นก็หมายความว่ายังมีประเด็นทั้งในรายละเอียดของร่างฯ ทั้งจุดมุ่งหมายของการแก้ไขครั้งนี้ ทั้งปัญหาที่จะตามมาที่ยังไม่มีคำตอบและมีความจำเป็นที่ทางฝ่ายค้านก็จะต้องนำเสนอต่อเนื่อง” นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่ามีความพยายามเปรียบเทียบการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้กับแนวทางการปฏิรูปการเมืองสมัยปีพ.ศ. 2538 ซึ่งจะนำมาเทียบกันไม่ได้เพราะวันนี้บ้านเมืองมีความขัดแย้งแบ่งฝ่าย พรรคการเมืองเข้าไปแนบแน่นกับมวลชนมากขึ้น ดังนั้นทำให้อดคิดไม่ได้ว่าการจะได้มาซึ่ง สสร. ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เสียงข้างมากไปแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังเสียงข้างน้อย“

นายอภิสิทธิ์ยังแสดงความเป็นห่วงถึงการแก้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากปัจจุบันมีคนหรือกลุ่มบุคคลที่มีความตั้งใจต้องการแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวดพระมหากษัตริย์และสถาบัน ซึ่งไม่เหมือนกับในอดีต ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลแสดงความบริสุทธิ์ใจโดยระบุไว้ว่าจะไม่แตะต้อง หมวด 2 “ที่สำคัญก็คือว่า เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญในภาวะซึ่งมีประเด็นความละเอียดอ่อนทางสังคมที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ เช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเมื่อวานนี้ รองนายกฯ เฉลิม ก็ยังไม่เข้าใจ คงจะต้องอธิบายเผื่อท่านจะเข้าใจ เพราะว่าเรียนจนจบนิติศาสตร์ ปริญญาเอกมา ก็คือว่า การที่รัฐบาลลอกถ้อยคำในรัฐธรรมนูญที่บอกว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่ในรูปของรัฐไม่ได้นั้นเป็นคนละประเด็นกับการที่บอกว่าจะไม่มีการแก้ไขบทบัญญัติในหมวดพระมหากษัตริย์ เพราะคนที่มีความตั้งใจที่จะแก้ไขเกี่ยวข้องกับเรื่องของหมวดพระมหากษัตริย์และสถาบันนั้นปรากฎตัวแล้วในปัจจุบัน ไม่เหมือนกับในอดีต พูดกันชัดเจนในกลุ่มนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง และมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มซึ่งสนับสนุนรัฐบาล เข้าไปร่วมด้วยส่วนหนึ่ง แล้วก็การเปลี่ยนแปลงที่เขาพูดกันทั้งหลาย ที่มีข้อเสนอออกมานั้น

ข้อเสนอเหล่านี้ถ้าจะบอกว่ามันเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่นั้น ไม่ใช่ เพราะเขาบอกว่ายังมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ แต่ถามว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันใช่หรือไม่นั้น ใช่แน่นอน ลองนึกถึงข้อเสนอเช่นว่า จะต้องมีการสาบานตน ก่อนขึ้นครองราชย์ ห้ามมีพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการบริหารบ้านเมืองต่าง ๆ ฉะนั้นตรงนี้ผมจึงอยากเห็นรัฐบาลได้มีการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า หมวด 2 นั้นเขียนลงไปเลยในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะแก้ไขแล้วถ้าจะผ่านกันไปนั้นว่า ไม่มีการที่จะไปแตะต้อง อยากจะทำหมวด 3 หมวดอะไรต่าง ๆ ไปจนถึงมาตราสุดท้ายก็ว่ากันไป”
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง