ผู้ค้าจตุจักรร้อง สัญญาค่าเช่าแผงแพงเกินไป

25 ก.พ. 55
15:47
31
Logo Thai PBS
ผู้ค้าจตุจักรร้อง สัญญาค่าเช่าแผงแพงเกินไป

ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป ผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรทั้งหมดกว่า 8,800 ราย จะต้องจ่ายค่าเช่าในอัตราใหม่แผงละ 3,157 บาทต่อเดือน และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่คิดแล้วเกือบ 75,000 บาท ผู้ค้าสะท้อนความเห็นว่าสูงเกินไป และสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

ประกาศของการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ผู้ค้าแผงค้ากึ่งถาวร 27 โครงการ และแผงค้าชนไก่เดิม ไปลงนามสัญญาเช่า และชำระเงินตามการกำหนดอัตราค่าเช่าใหม่ ที่ถูกนำไปติดไว้โดยรอบพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร กลายเป็นหัวข้อหลักในการจับกลุ่มสนทนาของผู้ค้าจตุจักรในขณะนี้

นายสงวน ดำรงค์ไทย ประธานสหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร ที่เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องให้การรถไฟฯ เก็บค่าเช่าแผงไม่เกิน 650 บาท ยืนยันว่ายอมรับไม่ได้กับอัตราค่าเช่านี้ เพราะหลายปีที่ผ่านมาการค้าจตุจักรอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะปีที่แล้วที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วม ภาพที่เห็นอาจมีคนมาเดินจับจ่ายจนแน่นขนัด แต่ก็เพียงรอบนอก ไม่ใช่ภายในโครงการที่เงียบเหงา

นอกจากค่าเช่าแผงละ 3,157 บาทต่อเดือน ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเช่าเดิมที่ต้องจ่ายให้กรุงเทพมนครเกือบ 10 เท่า ประกาศของการรถไฟยังระบุว่าผู้ค้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมจัดประโยชน์แผงละ 50,000 บาท ภาษี 395 บาท ค่าประกันสัญญาเช่า 21,312 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการทำสัญญารวมเป็นเงินเกือบ 75,000 บาท

แม้จะอนุญาตให้แบ่งจ่ายได้เป็น 3 งวด แต่นี่ก็คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ค้าส่วนใหญ่ต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าสูงเกินจริง และต้องการให้การรถไฟทบทวนอัตราค่าเช่าใหม่อีกครั้ง

ด้าน นายจรัสพันธ์ วัชโรทัย ผู้อำนวยการตลาดนัดจตุจักรยืนยันว่า อัตราค่าเช่าดังกล่าวคำนวณจากต้นทุนในการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นจริง ทั้งประปา ไฟฟ้า การรักษาความสะอาด และรักษาความปลอดภัย ซึ่งถือว่าต่ำมากหากเปรียบเทียบกับพื้นที่ข้างเคียง อย่างจตุจักรพลาซ่าที่บริหารโดยเอกชน อย่างจตุจักรพลาซ่า หรือเจเจมอลล์ ที่ผู้ค้าต้องเสียไม่ต่ำกว่าแผงละ 8,000 – 24,000 บาท ส่วนการเรียกเก็บค่าจัดประโยชน์ 50,000 บาท ก็เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่

ผลการศึกษาของการรถไฟพบว่าค่าเช่าช่วงแผงค้าในตลาดนัดจตุจักร มีราคาเฉลี่ย 10,000 – 17,000 บาท ต่อแผง ดังนั้นราคาเช่าแผงใหม่เพียง 3,157 บาท จึงต่ำกว่าราคาตลาดอยู่มาก แต่ในข้อเท็จจริงผู้เช่ายังต้องรับทั้งค่าเซ้ง, ค่าเช่าช่วง และค่าเช่ารายเดือน นั่นหมายถึงการค้าในตลาดนัดจตุจักรยังแฝงไปด้วยผลประโยชน์นอกระบบ ที่มีผลการศึกษาจากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตว่า มีเงินหมุนเวียนในตลาดนัดจตุจักรราว 1,000 – 3,500 ล้านบาทต่อปี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง