ผลสำรวจ “ข้อเท็จจริง 12 ประการเกี่ยวกับโลกโซเชียล”

Logo Thai PBS
ผลสำรวจ “ข้อเท็จจริง 12 ประการเกี่ยวกับโลกโซเชียล”

แมคเคน พบว่าการสอดแนมเรื่องของผู้อื่น ไม่ใช่เรื่องน่าขายหน้าอีกต่อไป

แมคเคน เวิลด์กรุ๊ป บริษัทโฆษณา เผยผลสำรวจล่าสุดเรื่อง “ข้อเท็จจริง  12 ประการเกี่ยวกับโลกโซเชียล” ในงานอินเตอร์เนชั่นแนล คอนซูเมอร์ อิเล็คโทรนิคส์ โชว์ ลาส เวกัส รัฐเนวาด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากการศึกษาวิจัยใน 19 ประเทศ โดยใช้ข้อมูลในการศึกษามาจากกลุ่มสนทนากว่า 30 กลุ่ม และกว่า 12, 000 จากผลการศึกษาออนไลน์ โดยข้อเท็จจริงทั้ง 12 ประการนี้ คือข้อมูลสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าโลกโซเชียลในปัจจุบัน มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคและแบรนด์เท่าๆ กัน

ข้อเท็จจริงประการที่ 1: นิยามของคำว่า “ส่วนบุคคล” และ “สาธารณะ” ถูกเปลี่ยนแปลงไป

ความนิยมของโซเชียล เน็ตเวิร์คที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและนิยามสำหรับคำว่า ‘ส่วนบุคคล’ และ ‘สาธารณะ’ โดย 75% ของผลสำรวจทั่วโลกเห็นตรงกันว่า ในปัจจุบัน ผู้คนเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์มากจนเกินไป และมีแนวโน้มที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในมากรูปแบบและมากปริมาณ เนื่องมาจากเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นตัวผลักดันทางความคิด

 ข้อเท็จจริงประการที่ 2: การสอดแนมเรื่องของผู้อื่น ไม่ใช่เรื่องน่าขายหน้าอีกต่อไป

การถือกำเนิดขึ้นของ เฟสบุ๊ค โฟร์สแควร์ ทวิตเตอร์ และโซเชียล มีเดียอื่นๆ ทำให้กำแพงกั้นความเป็นส่วนตัวลดลง โดยผลสำรวจของ แมคแคน พบว่า 1 ใน 3 คน มีวิธีค้นคว้าข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่นที่แทบจะเป็นคนแปลกหน้าผ่านกูเกิ้ล ในขณะที่ 1 ใน 4 คนอ่านข้อความต่างๆ ของเพื่อนหรือแฟน   

ข้อเท็จจริงประการที่ 3: คนในยุคปัจจุบันใช้เวลาในเฝ้าสังเกตข้อมูลเกี่ยวกับ “แบรนด์ส่วนตัว” มากขึ้น

ผู้บริโภคทั่วโลกยอมรับว่า ได้สร้างบุคลิกหลายรูปแบบขึ้นบนโลกออนไลน์ โดยจะปรุงแต่งข้อความที่พวกเขาจะส่งขึ้นไปยังโลกออนไลน์ ให้เหมาะสมระหว่างข้อความสำหรับครอบครัวและเจ้านาย และข้อความที่ต้องการสร้างความประทับใจกับเพื่อนหรือคนรู้จักที่อยู่บนโลกออนไลน์ ตัวอย่างของพฤติกรรมนี้ ปรากฎให้เห็นชัดเจนในประเทศอินเดีย โดย 35% ของชาวอินเดีย มีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับตนเองที่ตนสร้างขึ้นบนโลกออนไลน์ผ่านกูเกิ้ล เดือนละมากกว่า 1 ครั้ง ขณะที่ทั่วโลกมีอัตราอยู่ที่ 17%

ข้อเท็จจริงประการที่ 4: ผู้บริโภคมีวงจรเพื่อนฝูงที่ใหญ่และซับซ้อนกว่าเดิม

ความหมายของคำว่า ‘เพื่อน’ สำหรับคนรุ่นใหม่ได้ถูกเปลี่ยนไปแล้ว คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะสร้างวงจรเพื่อนฝูงที่ใหญ่และมีความหลากหลายมากขึ้น กล่าวคือ คนรุ่นใหม่ชอบที่จะมีเพื่อนหลากหลายกลุ่มแต่ก็เชื่อมโยงกันในวงสังคม ค่านิยมของการมีเครือข่ายเพื่อนกลุ่มใหญ่ ได้เข้ามาแทนที่ความต้องการที่จะมีเพื่อนสนิทเป็นกลุ่มเล็กเพียงไม่กี่คน แมคแคนยังสำรวจพบว่า 47% ของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกต้องการเป็นที่จดจำในฐานะบุคคลที่มีเครือข่ายเพื่อนฝูงมาก ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ

ข้อเท็จจริงประการที่ 5: แม้วงจรเพื่อนจะซับซ้อนบนโลกออนไลน์ แต่ผู้บริโภคยังคงสามารถแยกแยะได้ว่า ใครคือมิตรแท้

โลกออนไลน์ทำให้เกิดเพื่อนปลอมขึ้นมามากมาย ซึ่งในประเทศสิงคโปร์มีคำศัพท์เฉพาะสำหรับเพื่อนกลุ่มนี้ว่า “เพื่อนใช้แล้วทิ้ง” ในขณะที่ชาวออสเตรเลียเรียกว่า “เพื่อนตามหน้าที่” อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจได้แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนว่าคุณสมบัติข้อใดแสดงความเป็นเพื่อนแท้ คนรุ่นใหม่ 42 % ใช้คำว่า “จริงใจ” ในการนิยามคำว่าเพื่อนแท้ ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่าคำว่า “แท้” ซึ่งได้รับการเลือกเป็นลำดับที่สองที่ 22%  กว่าเกือบสองเท่า

ข้อเท็จจริงประการที่ 6: ความต้องการในการประชาสัมพันธ์ตนเองยังคงเกิดขึ้นเสมอ

เนื่องจากผู้คนในโลกออนไลน์หันมาให้ความสำคัญกับการจัดการ “แบรนด์ส่วนตัว” ของตนเองบนโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งบางครั้งบทสนทนาเหล่านี้ก็เป็นเหมือนการเขียนแนวกระแสสำนึก วัยรุ่นชาวอินเดียคนหนึ่งบอกว่า “ไม่ว่าฉันจะทำอะไรอยู่ มันจะไม่มีความหมายเลยถ้าไม่มีใครพูดถึงมัน” ผู้บริโภคจากทวีปอเมริกาใต้เองก็กำลังคลั่งไคล้กับเทคโนโลยี และเริ่มที่จะแชร์เรื่องราวในชีวิตของพวกเขามากขึ้น ประมาณ  80%  ของชาวชิลี และ 77%  ของชาวอินเดียมีความเห็นตรงกันว่าพวกเขาชอบแชร์ความนึกคิดและความคิดเห็นของตนเองกับเพื่อนออนไลน์ ขณะที่มีชาวสหราชอาณาจักร 46% และชาวญี่ปุ่น 31%  ที่คิดเช่นนั้น

 ข้อเท็จจริงประการที่ 7: ผู้คนในโลกโซเชียลทุกคนมีกลุ่มผู้ติดตามอยู่ไม่มากก็น้อย

บทบาทของแบรนด์สินค้า คือการสร้างสรรค์ประสบการณ์สุดพิเศษให้กับผู้บริโภค เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้เผยแพร่หรือโพสต์เรื่องราวประสบการณ์เหล่านี้บนโลกออนไลน์ แบรนด์สินค้าสามารถชนะได้ด้วยการสร้างวิธีทำให้ผู้บริโภคดูดีและสนุกสนานในหมู่เพื่อนและผู้ติดตามบนโลกออนไลน์ได้

ข้อเท็จจริงประการที่ 8: อีกไม่นาน ผู้คนจะสนใจแต่เรื่องราวของตัวเองบนโลกออนไลน์

นับตั้งแต่มีการเปิดตัวของเฟสบุ๊ค ไทม์ไลน์ ผู้คนต่างก็ให้มีความสนใจในเรื่องของตนเองบนโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น วัยรุ่นชาวอังกฤษคนหนึ่งกล่าวว่า “เราจะกลายเป็นผู้ปกครองที่ดีกว่าพ่อแม่ของพวกเรา เพราะเมื่อเราโต เราก็ยังจะจำได้ว่า ตอนที่เป็นวัยรุ่นมันเป็นอย่างไร”

ข้อเท็จจริงประการที่ 9: แบรนด์สินค้าควรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตส่วนตัวของผู้บริโภค

แบรนด์สินค้า ได้สร้างเหตุการณ์และประสบการณ์ต่างๆ ให้กับผู้บริโภค โดยที่ผู้บริโภคก็มีวงจรชีวิตในแต่ละขั้นตอน มีจุดเริ่มต้นจนถึงจุดจบ เริ่มตั้งแต่ความคาดหวัง ประสบการณ์ ควันหลง และความทรงจำเกี่ยวกับแบรนด์สินค้า ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะสะท้อนและถ่ายทอดผ่านโซเชียล มีเดีย

ข้อเท็จจริงประการที่ 10: ค่านิยมในการทำตามกระแสสังคมเป็นพลังทางการตลาดที่สำคัญมาก

ค่านิยมในการทำตามกระแสสังคมคือสัญชาตญาณของมนุษย์ในการทำสิ่งที่คนอื่นๆ นิยมทำ ผู้คนทั่วโลกราว 90% ในช่วงอายุ 16-30 ปี เห็นตรงกันว่า “หากบริษัทฯ หรือแบรนด์ทำให้ฉันประทับใจได้ในทางใดทางหนึ่ง ฉันก็ใช้ความพยายามในการป่าวประกาศให้เพื่อนรู้” และเนื่องจากกลยุทธ์แบบปากต่อปากและการเขียนรีวิวออนไลน์ยังคงเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลและความน่าเชื่อถืออย่างสูงในกระบวนการตัดสินใจของผู้บริโภค มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่แบรนด์ต่างๆ จะพยายามสร้างชุมชนที่ชื่นชมในแบรนด์และพร้อมที่จะปกป้อง

ข้อเท็จจริงประการที่ 11: หากว่าแบรนด์จะสร้างปากเสียงให้กับตัวเอง ก็ควรจะหาคนที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ

เมื่อทำการสำรวจกับผู้บริโภคทั่วโลก เราก็ได้พบว่าเราสามารถแบ่งผู้บริโภคออกได้เป็นห้ากลุ่มตามทัศนคติของพวกเขาที่มีต่อความเป็นส่วนตัวและการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์และธุรกิจต่างๆ กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่า “กลุ่มฉลาดช็อป” ที่เข้าใจถึงความสมดุลย์ด้านการแชร์ข้อมูลข่าวสาร คนกลุ่มนี้มีอยู่ราว 37% ของประชากรทั่วโลก (และราวๆ 37% ของประชากรชาวสหรัฐ) ยินดีที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับแบรนด์และธุรกิจต่างๆ แต่ก็อยากได้บางอย่างเป็นสิ่งตอบแทนบ้าง

ข้อเท็จจริงประการที่ 12: เวลาที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับแบรนด์ ลูกค้าก็อยากได้สิ่งที่มีค่ากลับมา

ผู้บริโภคทั่วโลกราว 86% เข้าใจตรงกันว่า มีผลประโยชน์มากมายสำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมกับแบรนด์ด้วยการให้ข้อมูลต่างๆ กับแบรนด์นั้น คนส่วนใหญ่ หรือประมาณ 65% เผยว่าผลประโยชน์อย่างหนึ่งที่พวกเขาได้รับจากการแชร์ข้อมูลและการเข้าไปมีส่วนร่วมของแบรนด์ นั่นก็คือการได้ซื้อสินค้าในราคาพิเศษหรือราคาโปรโมชั่น (ซึ่งเป็นความนึกคิดที่คล้ายกับ”กลุ่มฉลาดช็อป”) และผู้บริโภคราว 49% พบว่าคงเป็นการดีที่แบรนด์จะสามารถเสนอสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของพวกเขาแต่ละคนได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง