‘พิจิตต’ แนะให้ท้องถิ่นจัดการภัยพิบัติเอง

สิ่งแวดล้อม
2 มี.ค. 55
12:34
8
Logo Thai PBS
‘พิจิตต’ แนะให้ท้องถิ่นจัดการภัยพิบัติเอง

เสนอ ให้ท้องถิ่นจัดการภัยพิบัติ เพราะใกล้ชิดข้อมูลประชากรและพื้นที่มากที่สุด โดยรัฐดูแลในภาพรวม แนะทำแผนที่เสี่ยงภัย 70,000 หมู่บ้าน ผ.อ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ชี้เอสเอ็มเอสใช้เตือนภัยดีที่สุด เตือนอย่าละเลยทำภัยธรรมชาติกลายเป็นภัยพิบัติ

นายพิจิตต รัตตกุล ผู้อำนวยการศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย กล่าวปาฐกถา “การรับมือภัยพิบัติด้วยชุมชนท้องถิ่น ในการประชุมวิชาการ “ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นที่ไบเทค บางนา โดยเสนอท้องถิ่นควรเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการภัยพิบัติเพราะใกล้ชิดข้อมูลประชากรและพื้นที่มากที่สุด เสนอรัฐดูแลในภาพรวม ทำแผนที่เสี่ยงภัย 70,000 หมู่บ้านด่วน เพื่อดำเนินการลดความเสี่ยง เช่น เปลี่ยนเส้นทางเดินน้ำ ปลูกป่าโกงกางและการก่อสร้างที่แข็งแรง ขณะที่ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงต้องมีแผนรับมือชุมชน ฝึกซ้อม ทำความตกลงล่วงหน้า ว่าใครจะทำอะไรก่อน-หลัง ย้ำว่าสิ่งที่สำคัญคือ ต้องไม่ชาชินกับการเตรียมรับมือ            

นายเกรียงไกร กอวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวในการเสวนาเวทีวิชาการ “ทำอย่างไรให้ชุมชนท้องถิ่นพร้อมรับมือและจัดการภัยพิบัติ” ว่า ชุมชนต้องมีบทบาทในการจัดการ สิ่งที่ท้าทายคือ การที่ภัยพิบัติไม่ได้เกิดอยู่ตลอด จนทำให้ประชาชนอาจจะชินชาและละเลยในการเตรียมการ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น ภัยธรรมชาติจะกลายเป็นภัยพิบัติทันที โดยการเตือนภัยที่ดีทีสุดขณะนี้พบว่า คือการสื่อสารผ่านข้อความสั้น หรือเอสเอ็มเอส และเสนอด้วยว่า ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใช่การให้ข่าวโดยผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่มีความเชี่ยวชาญอย่างที่ผ่านมา

นายเมธา บุณยประวิตร ผอ.สำนักธรรมนูญสุขภาพ ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ. สงขลา กล่าวถึงการทำข้อมูลโดยชุมชนพื้นที่ ผ่านกระบวนการช่วยกันจัดทำโดยประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เห็นภาพชุมชนของตนเองชัดเจน ตั้งแต่ขนาดพื้นที่ ประชากร ทิศทางลม ฯลฯ สิ่งสำคัญคือ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ และฝึกอบรมต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่ใช่ทำเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติด้าน

นายทวีป จูมั่น อดีตนายกองค์การบริหารตำบลหัวไผ่ อำเภอเมือง จ. สิงห์บุรี กล่าวว่า ทุกหน่วยงานต้องประสานกัน ซึ่งที่ผ่านมาล้มเหลว มีการแทรกแซงจากการเมือง เฉพาะหน้านี้จึงต้องเร่งจัดการขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งตื้นเขินและแคบลงมาก รวมถึงตะกอนหน้าเขื่อนต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ส่วนด้านงบประมาณนั้น ควรจะหารือ อบต.ซึ่งดูแลพื้นที่ ขณะที่อบต. ก็ต้องเข้าใจการบริหารงบประมาณ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอให้ประกาศเขตภัยพิบัติก่อน ทั้งนี้ยังได้เสนอให้กระจายงบประมาณให้ท้องถิ่น 30 ล้าน โดยแบ่งเป็นเงินอุดหนุน 10 ล้านเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ

นายโกเมศร์ ทองบุญชู เครือข่ายภัยพิบัติภาคใต้ ระบุว่า ชัยชนะต่อภัยพิบัติไม่ได้อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี แต่อยู่ที่ชุมชนทองถิ่นซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบภัย และองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดการคือผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชน ซึ่งเป็นพลังหลักโดยใช้ฐานข้อมูลเป็นเครื่องมือ จึงต้องทำผังชุมชน มีกลไกจัดการ มีศูนย์จัดการภัยพิบัติในชุมชน

ว่าที่ รต.เลิศเกียรติ วงษ์โพธินันท์ รองผู้ว่าฯ ปัตตานีกล่าวถึงประสบการณ์การเผชิญภัยพิบัติในพื้นที่ที่มักจะมีปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงว่า ทุกวันนี้เมื่อเกิดภัยพิบัติจะโยนภาระให้นายก อบต. เสียมาก แต่ จ.ปัตตานีมีนโยบายเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ต้องคุยกับนายก อบต. ในพื้นที่ ขาดเหลือเท่าไหร่ ผู้ว่าฯ ต้องให้เพิ่มโดยไม่เอางบฯ 50 ล้านที่จังหวัดได้รับมากอดเอาไว้ และช่วงประสบภัยพิบัติเป็นช่วงที่ดีที่หน่วยงานทุกส่วนต้องลงพื้นที่ไปช่วยเหลือ ไม่ต้องกลัวตาย เพราะผู้ก่อการร้ายก็ประสบภัยพิบัติเหมือนกัน การช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ ต้องรวดเร็ว มีเงินกองทุน เพราะถ้าใช้ระเบียบราชการนั้นจะช้า แก้ไขไม่ทันการณ์และจะได้รับผลประทบด้านอื่นๆ ตามมา เนื่องจากจังหวัดชายแดนใต้มีเงื่อนไขเรื่องความมั่นคงอยู่ด้วย สุดท้ายคือต้องมองการจัดการแบบองค์รวม ไม่มองเฉพาะพื้นที่ ต้องวางยุทธศาสตร์ร่วมกันกับพื้นที่อื่นๆ และรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง