สาหตุที่แรงงานไม่ยอมขึ้นทะเบียนว่างงาน

5 มี.ค. 55
13:33
25
Logo Thai PBS
สาหตุที่แรงงานไม่ยอมขึ้นทะเบียนว่างงาน

ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าสถานประกอบการหลายแห่งจะเปิดกิจการอีกหรือไม่ ส่งผลให้แรงงานหลายแสนคนได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะแรงงานหญิงสูงอายุ ที่ไม่สามารถลาออกเพื่อหางานใหม่ได้ เนื่องจากจะถูกตัดสิทธิ์เงินชดเชยการเลิกจ้างทันที หากไปหางานทำใหม่ ตัวเลขขึ้นทะเบียนการว่างงานในขณะนี้ จึงสะท้อนความจริงที่ว่าแรงงานต้องการมีงานทำ ไม่ใช่ต้องการเงินชดเชยกรณีว่างงาน

การติดตราสินค้าบนหมวกเป็นงานที่ลูกสาวของหนูพิณ กองลี วัย 55 ปี นำมาให้ทำในยามว่าง หลังโรงงานผลิตพลาสติก ย่านพุทธมณฑลสาย 4 ที่เคยทำงานถูกน้ำท่วม และปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเปิดโรงงานได้ เธอ และเพื่อนพนักงานเกือบ 500 คน ยังไม่ได้รู้ชะตากรรมของตัวเองว่าจะได้กลับเข้าทำงานได้อีกหรือไม่

แม้จะผ่านมาแล้วหลายเดือน แต่หนูพิณ ก็ไม่คิดที่จะลาออกจากงาน เพื่อขอรับเงินชดเชยกรณีว่างงาน จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพราะรู้ดีว่า คงไม่มีสถานประกอบการใดรับเธอเข้าทำงาน เนื่องจากมีอายุมากแล้ว ที่สำคัญหากไปทำงานที่ใหม่ และนายจ้างเดิมประกาศเลิกจ้าง หนูพิณ ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างที่ทำมานานแล้ว 21ปี ซึ่งเงินจำนวนนี้ เป็นเงินเก็บก้อนสุดท้าย ที่จะนำไปเป็นทุนในการค้าขายในอนาคต

ตัวเลขการขึ้นทะเบียนว่างงานกว่า 40,000 คน สวนทางกับข้อเท็จจริงที่ว่า ยังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ไม่มีงานทำ แม้ว่าก่อนหน้านี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานคาดว่าหลังน้ำท่วมจะมีแรงงานถูกเลิกจ้างถึง 300,000 คน ซึ่งสาเหตุที่แรงงานไปขึ้นทะเบียนว่างงานกันน้อย สะท้อนถึงการที่พวกเขาต้องการที่จะมีงานทำ มากกว่าการได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงาน โดยเฉพาะแรงงานหญิงที่ต้องดูแลครอบครัว พวกเธอไม่กล้าไปหางานใหม่ทำ เนื่องจากกลัวว่าสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับน้อยกว่ากรณีที่นายจ้างบอกเลิกจ้าง

น้ำท่วมผ่านมาแล้ว 4 เดือน แต่ยังมีสถานประกอบการบางแห่ง ไม่สามารถเปิดกิจการได้ ขณะเดียวกัน ก็ไม่บอกว่าจะปิดกิจการหรือไม่ เพราะการปิดกิจการนายจ้างต้องจ่ายชดเชยการเลิกจ้างตามที่กฎหมาย ขณะนี้จึงเกิดภาวะความคลุมเครือระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง รอดูว่าฝ่ายไหนจะอดทนได้มากกว่ากัน ซึ่งนักวิจัยด้านแรงงาน เสนอให้นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อตรวจสอบสถานะของสถานประกอบการ เรียกความมั่นใจให้กับผู้ใช้แรงงาน

ล่าสุด อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประเมินว่าอาจจะมีแรงงานถูกเลิกจ้างปลายเดือนมีนาคมอีกประมาณ 100,000 คน เพราะสิ้นสุดโครงการป้องกัน และบรรเทาการเลิกจ้างที่รัฐบาลจ่ายเงินสมทบให้สถานประกอบการคนละ 2,000 บาท เพื่อประกันไม่เลิกจ้างแรงงานภายใน 3 เดือน ซึ่งขณะนี้มีสถานประกอบการจำนวนมาก ยังไม่ยืนยันว่าจะเข้าร่วมโครงการต่อไปหรือไม่
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง