แรงงานหญิงประสบปัญหาต้องไปทำงานจังหวัดอื่นหลังน้ำท่วม

7 มี.ค. 55
15:00
86
Logo Thai PBS
แรงงานหญิงประสบปัญหาต้องไปทำงานจังหวัดอื่นหลังน้ำท่วม

ข้อเสนอให้ลูกจ้างไปทำงานในจังหวัดอื่นที่ไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมทั้งชั่วคราว และถาวร เพื่อรักษายอดการผลิต หรือหลีกเลี่ยงการประกาศเลิกจ้าง แต่มาตรการนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง โดยเฉพาะแรงงานหญิงที่มีภาระหน้าที่ดูแลครอบครัว จึงไม่สามารถไปทำงานในจังหวัดอื่นได้ หลายคนจึงต้องลาออกหรือหยุดงาน จนกว่าโรงงานที่ถูกน้ำท่วม จะกลับมาเปิดสายพานการผลิตอีกครั้ง

 

ไม่บ่อยครั้งนักที่กัญญา แก้วภูผา จะอยู่พร้อมหน้าสามี และลูกอีก 2 คน แต่หลังจากโรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาน้ำท่วม และไม่สามารถเดินสายพานการผลิตได้ ทำให้ กัญญา มีเวลาอยู่กับลูกและสามีมากขึ้น แม้จะเป็นเวลาเพียง 15 วันต่อเดือน เนื่องจากนายจ้างให้เธอสลับกับเพื่อนพนักงานคนอื่น ไปทำงานยังโรงงานในจังหวัดปราจีนบุรี ด้วยภาวะจำยอมเพราะสามียังว่างงาน เธอจึงกลายเป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัวในขณะนี้ แม้ว่าการไปทำงานอีกจังหวัดหนึ่ง จะทำให้เธอเป็นห่วงลูกชายที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นก็ตาม

แต่ยังมีเพื่อนแรงงานหญิงในโรงงานอีกจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถไปทำงานในจังหวัดปราจีนบุรีได้ อย่างสมหมาย ควรแถลง ที่เป็นห่วงลูกทั้ง 3 คนที่กำลังเรียนหนังสือ จึงตัดสินใจอดทนรอว่า เมื่อไหร่โรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเปิดสายพานการผลิตได้อีกครั้ง แม้ขณะนี้ สมหมาย จะไม่มีรายได้ และอาศัยเงินเดือนจากสามีที่มีอาชีพขับรถรับส่งคนงาน

การย้ายลูกจ้างไปทำงานในจังหวัดอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นวิธีที่นายจ้างเลือกใช้ เพื่อรักษายอดการผลิต หรือหลีกเลี่ยงการเลิกจ้าง และหากลูกจ้างไม่สามารถไปทำงานได้ ก็ให้รอจนกว่าโรงงานจะเปิดทำการ โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ และหากลูกจ้างทนไม่ไหว ก็จะลาออกไปเอง ซึ่งทำให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้าง

ศ.ภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการที่ลูกจ้างโดยเฉพาะแรงงานหญิงจะย้ายไปทำงานในจังหวัดอื่นจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวมากกว่าผลดีทางเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลควรเข้ามาแทรกแซง หรือออกมาตรการเพิ่มเติม ด้วยการเพิ่มหลักประกันให้คนงานที่ย้ายถิ่นหรือคนงานที่ถูกเลิกจ้างมีงานทำหากเข้าสู่สถานการณ์ปกติ

ศ.ภิชานแล ยังเชื่อว่า หากรัฐบาลเร่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และสถานประกอบการก็จะช่วยลดปัญหาการถูกเลิกจ้างหรือแรงงานที่นายจ้างยังไม่มีท่าทีว่าจะเลิกจางหรือไม่อีกกว่า 163,712 คนที่ยังไม่กลับเข้าทำงาน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง