อดีตบอร์ด สสส.ตั้งข้อสังเกตคำสั่ง คสช.ปลด บอร์ด 7 คน

การเมือง
6 ม.ค. 59
14:21
153
Logo Thai PBS
อดีตบอร์ด สสส.ตั้งข้อสังเกตคำสั่ง คสช.ปลด บอร์ด 7 คน
อดีตบอร์ด สสส.ยืนยันพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวานนี้ (5 ม.ค.) เรียกร้องสังคมติดตามดูกระบวนการสรรหากรรมการแทน 7 คนที่ถูกปลด

กรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 1/2559 ลงวันที่ 5 ม.ค.2559 ให้กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (บอร์ด สสส.) 7 คนซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อดีตกรรมการกองทุน สสส.และมีตำแหน่งรองประธานบอร์ด สสส.คนที่ 2 ซึ่งมีรายชื่อตามคำสั่งดังกล่าว เปิดเผยวันนี้ (6 ม.ค.2559) ว่าพร้อมปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ไม่ทราบเหตุผลของคำสั่งนี้ เพราะที่ผ่านมาบอร์ด สสส.ได้ปฏิบัติตามข้อท้วงติงของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และสำนักงานการตรวจเงืนแผ่นดิน (สตง.) อย่างเคร่งครัด ในการปรับแก้ระเบียบข้อบังคับให้มีความรัดกุมมากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ของบอร์ด สสส. ที่มีตำแหน่งทับซ้อนกับมูลนิธิ หรือองค์กรต่างๆ ต้องเลือกรับเพียงตำแหน่งเดียว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมการแต่ละคน

"ไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าสิ่งที่ทาง คตร.อยากให้สสส.ทำ เราก็ทำหมดแล้ว เช่น การแก้ระเบียบกว่า 20 ฉบับ บอร์ดสสส.ก็ได้ประชุมกันตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.2558 และได้แก้ไขจนครบทุกเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขต้องการแก้ ไม่มีการโต้แย้งใดๆ เลยเพื่อให้เป็นที่สบายใจ และสสส.ยังทำมากกว่าที่คณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุข คือ เราดูจากคำสั่ง คตร.ที่อยากให้สสส.ตีกรอบการทำงาน เราก็กำหนดกรอบ ที่จริงช่วงที่ผ่านมา สสส.ก็มีกรอบการทำงานอยู่แล้วเพราะเรามีงบประมาณอยู่จำกัดคือประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท ขณะที่การแก้ไขปัญหาสุขภาพต้องใช้เงินเป็นแสนล้าน เราก็ต้องตีกรอบอยู่แล้ว เช่น ปัญหาสุขภาพมีอยู่ 1,000 เรื่อง เราก็เลือกทำเพียง 200 เรื่อง เป็นต้น เรามีกรอบและมีแผนการทำงานอยู่แล้ว แต่เมื่อมีข้อวิจารณ์ว่าเราทำเกินกรอบ เราก็ทำให้กรอบชัดเจนขึ้น ต่อมาก็มีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งตอนที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม) ก็ได้ออกมาบอกชัดเจนแล้วว่าไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะว่าสิ่งที่ สสส.ทำมาทั้งหมดอยู่ในกรอบกฎหมายทั้งสิ้น แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ เราก็จะเขียนเกณฑ์เกี่ยวกับการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนให้เข้มข้นขึ้นตามที่คตร.และสตง.แนะนำ ซึ่งทำให้กรรมการบอร์ดบางคนต้องเลือกว่าจะอยู่กับสสส.ต่อหรือจะลาออกไป

นพ.วิชัยเชื่อว่าคำสั่งดังกล่าวอาจเป็นความพยายามปรับเปลี่ยนตัวบุคคล ภายในบอร์ด สสส. ซึ่งส่งสัญญาณการปรับเปลี่ยนมาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2558 นอกจากนี้ยังขอให้สังคมติดตามการสรรหาและคัดเลือกตัวแทนกรรมการผู้ทรง คุณวุฒิของบอร์ด สสส.ชุดใหม่ โดยประธานบอร์ด สสส.และบอร์ดที่เหลืออยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากภาครัฐต้องดำเนินการไม่ให้เป็นที่เคลือบแคลงของ สังคม

"เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดว่าจะมีคำสั่งนี้ออกมา แม้จะมีข่าวมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคมแล้วก็ตาม แต่ถ้าพิจารณาจากคำสั่งนี้ ก็คิดว่าพอจะเข้าใจได้ กล่าวคือ ตามคำสั่งนี้มีกรรมการถูกปลด 7 คน จากทั้งหมด 9 คน ดูจากรายชื่อที่ถูกปลดก็เข้าใจว่าเขาดูจากรายงานเดิมที่ สตง.และคตร.เคยตรวจสอบแล้วบอกว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน แม้จะมีการเคลียร์แล้วว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่การปลด 7 คนนี้น่าจะปลดตามรายงานเดิมซึ่งมีรายชื่ออยู่ 7 คน ส่วนอีก 2 คนไม่อยู่ในชื่อที่ตรวจสอบ"

"คำสั่งนี้บอกว่าให้ผู้มีอำนาจหน้าที่สรรหากรรมการใหม่ขึ้นมาทดแทน ผู้มีอำนาจหน้าที่ก็คือคณะกรรมการชุดเดิม ปกติแล้วการสรรหาจะมีการตั้้งคณะกรรมการสรรหาขึ้น มีการเสนอชื่อในสาขาละ 2 คนแล้วให้คณะกรรมการโดยตำแหน่งเป็นคนคัดเลือก ทั้งนี้กรรมการบอร์ด สสส.มี 2 ส่วน คือ คณะกรรมการโดยตำแหน่ง มีนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธานคนที่ 1 นอกนั้นก็เป็นกรรมการจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เช่น สำนักนายก สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นผู้เลือก จากนั้นก็นำรายชื่อเสนอครม.แต่งตั้ง เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปว่า การสรรหากรรมการบอร์ด สสส.ใหม่ ถ้าดำเนินการโดยสุจริต ไม่มีการแทรกแซง สสส.ก็อาจจะอยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วงน้อยลง แต่ถ้าหากว่ามีการแทรกแซงในส่วนนี้ก็อาจจะมีปัญหาต่อไป"

"ต้องติดตามดูว่าจริงๆ แล้วเจตนาในการปรับเปลี่ยนบอร์ด สสส.เพื่อที่จะเอาคนที่ต้องการเข้ามา หรือว่าจะทำเพื่อผลประโยชน์ขององค์กรหรือประเทศชาติจริงๆ" นพ.วิชัยระบุ

ด้านรองศาสตราจารย์ ประภาภัทร นิยม อดีตบอร์ด สสส.ซึ่งเป็น 1 ในกรรมการบอร์ดสสส. 7 คนที่ถูกสั่งให้พ้นตำแหน่งก็ตั้งข้อสังเกตต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้เช่นกัน โดยยืนยันว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นบอร์ด สสส.แล้ว เนื่องจากมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ดังนั้นเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นเป็นไปได้หรือไม่ที่มีการกำหนดตำแหน่งบอร์ด สสส.ชุดใหม่ไว้แล้ว

ขณะที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีให้ความเห็นว่า คำสั่งฉบับนี้อาจไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิรูปประเทศที่ คสช.และรัฐบาล คาดหวัง และแสดงความเป็นห่วงว่ากระบวนการสรรหากรรมการ สสส.ชุดใหม่ อาจเปิดทางให้มีตัวแทนกลุ่มธุรกิจข้ามชาติ เข้ามาถ่วงดุลการทำงาน ซึ่งจะทำให้บทบาทของ สสส.เปลี่ยนไป

"ต่อไปเราอาจจะเห็นทิศทางการทำงานเรื่องของประชารัฐในแบบที่ไม่มีประชาชนอยู่เลย กรรมการที่มาบริหารสสส.ก็น่าจะเป็นกรรมการที่มาจากข้าราชการกับกลุ่มทุน เป็นการปิดฉากกลไกที่มีการบริหารโดยอิสระ กลับไปอยู่ในอำนาจรัฐโดยสมบูรณ์" นายวิฑูรย์กล่ว

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถียังเรียกร้องให้กรรมการ สสส.ที่เหลืออยู่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนภาครัฐพิจารณาสรรหาและแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ โดยต้องไม่เป็นบุคคลที่มีส่วนได้เสียกับกลุ่มธุรกิจข้ามชาติ และควรเปิดโอกาสภาคประชาชนร่วมตรวจสอบที่มาของกรรมการ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพของประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง