คนเร่ร่อน-ผู้ป่วยจิตเวช ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มขึ้น

สังคม
12 มี.ค. 55
01:10
27
Logo Thai PBS
คนเร่ร่อน-ผู้ป่วยจิตเวช ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มขึ้น

มูลนิธิอิสรชน องค์กรรณรงค์สิทธิคนชายขอบในสังคมเมือง เผยผลสำรวจพบผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเขตที่มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมากที่สุด คือ เขตพระนคร

มูลนิธิอิสรชน องค์กรรณรงค์สิทธิคนชายขอบในสังคมเมือง เปิดเผยสถานการณ์ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะทั้งกลุ่มคนเร่ร่อน-ไร้บ้าน และผู้ป่วยข้างถนน อาทิ โรคสมองเสื่อมและโรคทางจิตเวช โดยใช้วิธีการสำรวจเชิงปริมาณและลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต และอ้างอิงข้อมูลพื้นฐานบ้านมิตรไมตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจากการสำรวจจำนวนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในกรุงเทพฯ พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี เมื่อปี 2553 มีจำนวน 2,451 คน ปี 2554 มีจำนวน 2,561 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 แบ่งเป็นผู้ชาย 1,630 คน ผู้หญิง 931 คน เมื่อแยกตามประเภทผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ พบว่า มีกลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้านมากที่สุด รองลงมาเป็นคนติดสุรา คนหลับนอนชั่วคราว ผู้ป่วยข้างถนนและคนจนเมือง เขตที่มีจำนวนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมากที่สุดในกรุงเทพฯ คือ เขตพระนคร 472 คน รองลงมา เขตบางซื่อ 258 คน เขตจตุจักร 207 คน เขตปทุมวัน 182 คน และเขตสัมพันธวงศ์ 163 คน ส่วนตัวเลขทั่วประเทศมีคนเร่ร่อนประมาณ 30,000 คน พร้อมระบุ ขณะนี้มีผู้ป่วยทางสมองและจิตเวชตามถนนทุกเส้นทาง และปัญหาคนเร่ร่อนรอบพื้นที่สนามหลวงตายเฉลี่ยเดือนละ 1 ราย สาเหตุเพราะไม่ได้รับการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานตามสิทธิความเป็นมนุษย์ กรณีเสียชีวิตล่าสุดเพราะเก็บอาหารในถังขยะไปกิน แต่กลับมียาเบื่อหนูปนอยู่ในอาหาร ทำให้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตข้างถนน 4 ราย เฉลี่ยเดือนละ 2 ราย ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วเฉลี่ยเดือนละ 1 ราย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง