กรมชลฯ ยันมีน้ำพอใช้ถึงเดือน ก.ค. แต่ไม่ครอบคลุมทำนา-กทม.เตรียมเวนคืนที่ดินสร้างแก้มลิงเพิ่ม 10 แห่ง

สังคม
13 ม.ค. 59
12:18
443
Logo Thai PBS
กรมชลฯ ยันมีน้ำพอใช้ถึงเดือน ก.ค. แต่ไม่ครอบคลุมทำนา-กทม.เตรียมเวนคืนที่ดินสร้างแก้มลิงเพิ่ม 10 แห่ง
กรมชลประทานยัน มีน้ำพอใช้ต่อการอุปโภคบริโภคถึงเดือน ก.ค. 59 ก่อนเข้าฤดูฝน แต่ไม่เพียงพอต่อการเกษตรที่ใช้น้ำจำนวนมาก โดยพาะการปลูกข้าว ด้าน ผู้ว่าฯ กทม.เตรียมเวนคืนที่ดินทำแก้มลิงเพิ่ม 10 แห่ง รองรับน้ำ 6 ล้าน ลบ.ม. ไว้ใช้

วันนี้ (13 ม.ค. 2559) นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 4 เขื่อนว่า ยังมีเพียงพอไปจนถึงเดือน ก.ค.นี้ โดยปริมาณน้ำล่าสุดอยู่ที่ 3,700 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งวางแผนไว้ใช้สำหรับการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศผลักดันน้ำเค็มเป็นภารกิจหลัก

ทั้งนี้ น้ำที่มีอยู่เพียงพอสำหรับพืชไร่ พืชสวนเท่านั้น และไม่มีน้ำเพียงพอให้กับพื้นที่ปลูกข้าวที่ต้องใช้น้ำมาก โดยกรมชลประทานได้ชี้แจงให้ชาวนาปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกมาต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้ทำหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ขอความร่วมมือ อบต.ทุกพื้นที่ ไม่ส่งน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งสถานีสูบน้ำทั้งแห่ง 365 แห่งทั่วประเทศ จะสูบน้ำเพื่อการปะปาเท่านั้น

นายสุเทพ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยแล้งในขณะนี้ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 7 สาขา ได้รับผลกระทบแล้ว แต่ยังไม่มีการหยุดจ่ายน้ำ ขณะที่บางพื้นที่ต้องจ่ายน้ำเป็นเวลา คือ ที่สาขาท่าตะโก จ.นครสวรรค์ สาขาแก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ และสาขาหนองเรือ จ.ขอนแก่น ส่วนสาขาพิมาย จ.นครราชสีมา และสาขาปากท่อ จ.ราชบุรีกปภ.ต้องลดแรงดันน้ำและลดอัตราการจ่ายน้ำ สาขาบางปะกง และสาขาบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เริ่มประสบปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำจนน้ำประปามีรสชาติกร่อย ทำให้ กปภ.ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่าตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2558 กปน. ได้ปรับลดปริมาณการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาลง พร้อมลดแรงดันน้ำประปาเฉพาะช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่เวลา 23.00-05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้น้ำประปาไหลอ่อนลงบ้างแต่ยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของประชาชน

ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมวางแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่า คาดว่าพื้นที่การเกษตรที่จะได้รับผลกระทบมีประมาณ 60,000 ไร่ ซึ่งแผนการแก้ปัญหาระยะสั้น จะผลักดันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาบางส่วนเข้าสู่คลองต่างๆ เพื่อเก็บกักน้ำไว้

ส่วนในระยะยาวคาดว่าน้ำจะไม่เพียงพอต่อการบริโภคและอุปโภค และไม่สามารถผลักดันน้ำได้ จึงกำหนดพื้นที่แก้มลิงเพิ่มอีก 10 แห่ง เพื่อรองรับน้ำเพิ่มประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. จากเดิมที่มีอยู่ 25 แห่ง และเตรียมสำรวจพื้นที่เพื่อออกกฎหมายเวนคืนที่ดิน บริเวณที่จำเป็นต้องทำเป็นแก้มลิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง