เตือนอย่าล้วงเงินมาตรา 41 สปสช. เพื่อเอื้อบริษัทประกันเอกชน

สังคม
14 มี.ค. 55
17:53
18
Logo Thai PBS
เตือนอย่าล้วงเงินมาตรา 41 สปสช. เพื่อเอื้อบริษัทประกันเอกชน

ตามที่นายวิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีนโยบายจะนำเงินมาตรา 41 จากกองทุน สปสช. จำนวน 100 ล้านบาทของปี 2555 และอาจขยายเป็น 2,000 ล้านบาทถ้าครอบคลุม รพ.เอกชน ในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการตามที่แพทยสภาเสนอ ไปให้บริษัทประกันภัยเอกชนบริหารและจ่ายชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการรับบริการสาธารณสุขเหมือนระบบประกันผู้ประสบภัยจากรถที่ทำให้เอกชนมีกำไรกว่าปีละ 3,000 ล้านบาทเพราะผู้ประสบภัยจากรถเบิกค่าชดเชยได้ยากและน้อยมาก

นพ.วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการย้ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของ สปสช.ที่ปัจจุบันใช้ปีละ 100 ล้านบาทและอาจต้องเพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาทถ้ามีการขยายความคุ้มครองไปยังรพ.เอกชน ในระบบประกันสังคม ไปให้บริษัทประกันภัยเอกชนเป็นผู้บริหารแทน ผู้คิดนโยบายนี้ต้องรอบคอบและตอบคำถามสังคมว่าของเดิมที่ สปสช.ช่วยเหลือผู้ป่วยตามมาตรา 41 มีปัญหาอะไร ถ้ายกให้บริษัทประกันภัยเอกชนทำผู้ป่วยจะได้ประโยชน์อะไรเพิ่ม และบริษัทประกันภัยเอกชนจะมีค่าบริหารจัดการหรือหักค่ากำไรสูงกว่าร้อยละ 50 ของเงินช่วยเหลือทั้งหมดที่ผู้ป่วยจะได้รับเหมือนที่ทำกำไรจากระบบประกันผู้ประสบภัยจากรถหรือไม่

 รายงานข่าวจากที่ประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 5 มีค. ที่ผ่านมา นายวิทยา ได้เสนอให้ สปสช.เพิ่มรองเลขาธิการอีก 2 ตำแหน่ง เพื่อทำหน้าที่ดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและชดเชยค่าบริการหรือเคลียร์ริงเฮ้าส์ให้กับสามกองทุน (กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ) 

นพ.วิชัย  โชควิวัฒน บอร์ด สปสช. ในส่วนองค์เอกชน และอดีตบอร์ด สปสช.ชุดเดิม เปิดเผยว่า    ในที่ประชุมบอร์ด มีข้อเสนอให้เพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการ สปสช. อีก 2 ตำแหน่งจากเดิมซึ่งขณะนี้มีอยู่แล้ว 3 คน เท่าที่ฟังจากที่มีประชุมเมื่อวันที่ 5 มีค. ทุกคนเข้าใจว่าประธานเสนอขอให้จัดรองเลขาธิการ สปสช.คนเดิมอีก 2 คน เข้ามาช่วยเลขาธิการในที่ประชุมบอร์ด ไม่ใช่เป็นการเพิ่มตำแหน่งใหม่ แต่ถ้า รมว.สาธารณสุขต้องการเพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการคนใหม่จากคนนอกจริงตามที่มีข่าวว่าจะเคลื่อนไหวคัดค้านกันของเจ้าหน้าที่ สปสช.เพราะวิตกกันว่ามีเป้าหมายนำคนนอกที่สั่งได้เพื่อแสวงหาประโยชน์จากกองทุน สปสช. แอบแฝง  ถ้าเป็นจริงก็ต้องถือว่าเป็นการล้วงลูกการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของ สปสช. เป็นครั้งแรก เพราะที่ผ่านมาถึงแม้จะเป็นเรื่องเกือบปกติในหน่วยงานราชการต่างๆ แต่ไม่เคยมีการแทรกแซงแบบนี้ในระบบบริหารงานบุคคลของ สปสช. เพราะผิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  อาจเป็นคดีฟ้องร้องทางศาลอีกคดีก็ได้ และเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องจับตามองต่อไป

 

“ประสบการณ์ความเจ็บปวดที่ผู้ประสบภัยจากรถได้รับจากการเอาเปรียบของบริษัทประกันภัยเอกชน ยังไม่พอที่ผู้มีอำนาจจะเรียนรู้อีกหรือ เงินประกันสุขภาพเป็นเงินของคนป่วยจะเอาไปให้บริษัทเอกชนค้ากำไร นักการเมืองต้องคิดให้รอบคอบ และถามประชาชนก่อน” อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง