การเปลี่ยนสถานะจาก "ข้าราชการ" สู่ "ลูกจ้างมหาวิทยาลัย" บั่นทอนกำลังใจ-คุณภาพการเรียนการสอน

30 มี.ค. 55
15:53
13
Logo Thai PBS
การเปลี่ยนสถานะจาก "ข้าราชการ" สู่ "ลูกจ้างมหาวิทยาลัย" บั่นทอนกำลังใจ-คุณภาพการเรียนการสอน

ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจำนวน 14 แห่งทั่วประเทศ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน แต่พบว่าบุคคลากรในสถาบันการศึกษาได้เปลี่ยนสถานะจาก "ข้าราชการ" กลายเป็น "ลูกจ้าง" ของมหาวิทยาลัย ทำให้สิทธิและสวัสดิการจากเดิมที่ได้รับลดลงตามไปด้วย และจะส่งผลกระทบต่อจิตใจและคุณภาพการเรียนการสอน

<"">
 
<"">

หน้าแรกของเฟสบุ๊คเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย กลายเป็นช่องทางสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของบุคลากร พนักงานมหาวิทยาลัย ที่ได้รับผลกระทบจากการออกนอกระบบ และเตรียมการออกนอกระบบ ของมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ที่มีสมาชิกเฟสบุ๊คกว่า 1,600 คน และเครือข่ายที่ร่วมลงชื่อ 40 คน จาก 40 สถาบันการศึกษา

<"">
 
<"">

ปัญหาสิทธิและสวัดิการของลูกจ้างมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2542 ที่ให้สถาบันอุดมศึกษาเปลี่ยนสถานภาพการบริหารเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือ การออกนอกระบบ ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 14 แห่ง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม.เชียงใหม่, ม.มหิดล, ม.บูรพา และม.แม่ฟ้าหลวง

การปรับเปลี่ยนจาก "ข้าราชการ" มาเป็น "พนักงานมหาวิทยาลัย" สำนักงบประมาณ จะจัดสรรงบค่าตอบแทนการจ้าง โดยจ้างเป็นสัญญารายปี ให้บุคลากร สาย ก. คือ อาจารย์ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่าของอัตราแรกเข้า,สาย ข. นักวิจัย ธุรการ พัสดุ เพิ่ม 1.5 เท่า และสาย ค. เจ้าหน้าที่ คนงาน เพิ่ม 1.5 เท่า แต่สวัสดิการที่เคยได้รับนั้นหายไป โดยเฉพาะสิทธิการรักษาพยาบาลของบิดามารดาและบุตร

รูปแบบของสัญญาจ้างเป็นที่รายปีทำให้นายประทัย พิริยะสุรวงศ์ อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ระบุว่า ความไม่มั่นใจว่าจะเกิดความมั่นคงในสายงานที่ตัวเองทำ และผลักดันให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษา ต้องหารายได้เสริมด้วยการ รับจ้างทำวิจัย หรือ เป็นอาจารย์พิเศษ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอน

ผู้ประสานงานเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย เรียกร้องให้ รัฐบาลปรับเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งระบบที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาทตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งจัดสวัสดิการให้ไม่น้อยกว่าหรือเทียบเท่ากับข้าราชการ เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินประจำตำแหน่งวิชาการ เงินตอบแทนพิเศษประจำปี เป็นต้น ขณะเดียวกัน เห็นว่าเกิดความไม่เป็นธรรมในการประเมินเพื่อต่อสัญญาจ้าง

ผู้ประสานงานเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัยยังเสนอให้ปรับแก้กฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2551 โดยเพิ่มคำว่า "พนักงาน" รวมไว้ในชื่อกฎหมายเป็น ข้าราชการพลเรือนและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา และให้มีคณะทำงานที่เป็นตัวแทนจากพนักงานมหาวิทยาลัย เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย  ล่าสุด สกอ.เตรียมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเข้ามาดูแลปัญหาของพนักงานมหาวิทยาลัยนอกระบบ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง