ปฎิรูปการศึกษาสู่...การจัดการการศึกษาทางเลือกพัฒนาเด็กไทยอย่างยั่งยืน

สังคม
1 เม.ย. 55
19:38
21
Logo Thai PBS
 ปฎิรูปการศึกษาสู่...การจัดการการศึกษาทางเลือกพัฒนาเด็กไทยอย่างยั่งยืน

โรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็กหลายๆ คน แต่ระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นนั้น ถูกตั้งคำถามว่าจะนำไปสู่การพัฒนาของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพได้จริงหรือ ! จนก่อให้เกิด “การศึกษาทางเลือก” ขึ้นมาในหลากหลายรูปแบบ

ากการรวบรวมการศึกษาทางเลือกในสังคมไทย ของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (Choice to learn) พบว่าปัจจุบันมีโรงเรียนทางเลือกกว่า 209 แห่ง ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และแบ่งตามภูมิภาค คือ ภาคเหนือ จำนวน 58 แห่ง ภาคกลาง 50 แห่ง ภาคอีสาน จำนวน 51 แห่ง และภาคใต้จำนวน 50 แห่ง  โดยมีการจัดแบ่งการศึกษาทางเลือกออกเป็น 7 ฐานการเรียนรู้แตกต่างกันไป คือ 1)การศึกษาทางเลือกที่จัดโดยครอบครัว 2)การศึกษาทางเลือกที่อิงระบบรัฐ 3)การศึกษาทางเลือกสายครูภูมิปัญญา 4)การศึกษาทางเลือกศาสนาและวิถีปฏิบัติธรรม  5)การศึกษาทางเลือกที่เป็นสถาบันนอกระบบรัฐ 6)การศึกษาทางเลือกของการเรียนรู้ 7)การศึกษาทางเลือกผ่านสื่อการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้ ซึ่งแม้กระบวนการจะแตกต่างกัน แต่เป้าหมายที่ได้มุ่งสู่ทิศทางเดียวกัน คือการพัฒนามนุษย์ทั้งกาย จิตใจ สู่การเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

“โรงเรียนเพลินพัฒนา โรงเรียนไทยเบิ้ง โรงเรียนเกาะยาววิทยา (โรงเรียนรีสอร์ท)” ถือเป็นตัวอย่างของโรงเรียนทางเลือกในวันนี้ที่ผู้ร่วมก่อตั้งเห็นว่าสำเร็จในระดับหนึ่ง “แม่แอ๊ว หรือ รัชนี ธงไชย ครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก”  ที่อดีตเคยเป็นครูสอนในระบบมากว่า11 ปี กล่าวว่า โรงเรียนในหมู่บ้านเด็กจะเน้นการมองหาความสุขของการศึกษา ซึ่งการลุกขึ้นมาจัดการการศึกษา ก็เพราะเราคำนึงถึงสิทธิในการมีส่วนร่วม เพราะการศึกษาจะปล่อยให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้กำหนดคงเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะในไทยที่มีความหลายหลายทางวัฒนธรรม คนจึงต้องการการศึกษาที่เหมาะกับผู้เรียน ซึ่งผู้เรียนก็ควรจะมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดด้วย ดังนั้นจึงต้องมาดูระบบการศึกษาในจินตนาการใหม่ ทั้งที่อยู่ในโรงเรียนและนอกในโรงเรียน ซึ่งเป้าประสงค์ท้ายสุดก็คือต้องมีความเป็นพลเมืองจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก ระบุว่า “ที่ผ่านมาเกิดวิกฤติการศึกษาในระบบของการเรียนในห้อง ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการท่องจำ ทำให้เด็ก และเยาวชนไม่เกิดทักษะประสบการณ์ในการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบัน จึงเกิดการรวมกลุ่มขึ้น เนื่องจากเห็นว่าวิกฤตินี้กำลังขยาย และหากผลผลิตเป็นเช่นนี้ ก็จะนำไปสู่ความอ่อนแอ มีปัญหา และคงสามารถเดาอนาคตในสังคมได้เลยว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นเราจะยอมให้อนาคตอ่อนแอโดยไม่แก้ไขไม่ได้ พวกเราจึงต้องลุกขึ้นมาจัดการการศึกษา และรวมตัวเป็นสภาการศึกษาทางเลือก”

“ที่ผ่านมามีการทำวิจัยเรื่องปัญหาอุปสรรคของการศึกษาทางเลือก และข้อเสนอ ซึ่งหวังว่าจะนำไปสู่การวิจัยเรื่องหลักสูตรและการเทียบโอนของการศึกษาทางเลือก โดนปัจจุบันระบบการศึกษาไทยต้องเผชิญกับกำแพง 3 ชั้น ผี 3 ตัว ซึ่งกำแพง 3 ชั้น ก็คือปัญหากฎหมาย กฎระเบียบ กฎเกณฑ์ ส่วนผี 3 ตัว ก็คือ การสอบเอเน็ต โอเน็ต เอ็นทรานซ์ ที่ไร้มาตรฐานทำให้การประเมินผลสอบที่ผ่านมาตกกันทั้งประเทศ จึงไม่น่าจะนำมาเป็นตัวชี้วัดได้ ดังนั้นสภาการศึกษาทางเลือก จึงต้องเร่งดำเนินการใน 3 เรื่องสำคัญ ดังนี้1.พัฒนาการเรียนรู้ให้เกิดการเท่าทัน มีจิตสาธารณะให้เป็นที่ประจักษ์ 2.สื่อสารกับสังคมให้กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจ  และ 3.การขับเคลื่อนนโยบาย 3 ข้อ คือ 1)ผลักดันให้เกิดการปรับหลักสูตรแกนกลางสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะมาจัดการเรียนของชุมชนและองค์กรเอกชน  2)รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ระบุว่าการศึกษาทางเลือกจะต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ 3)การพัฒนากฎหมายลูก

ด้านนายชาตรี เนาวธีรนนท์ นายกสมาคมบ้านเรียนไทย และในฐานะพ่อที่จัดการศึกษาให้ลูกตัวเอง มาจนอายุ 13 ปี กล่าวว่า “การจัดการศึกษาโดยโฮมสคูลเป็นการไม่สนใจกฎเหล็กที่ สพฐ.วางไว้ว่าต้องเข้าระบบ เพราะตลอดระยะเวลาลูกก็มีความสุขกับการเรียนแบบโฮมสคูล พ่อ แม่ก็มีความสุข เพราะหากไปโรงเรียนก็ไม่รู้จะต้องเจอกับอะไร หรือต้องกลับมาพร้อมกับคำด่าทอหรือไม่ ซึ่งนี่เป็นความรู้สึกของพ่ออีกคนหนึ่งที่มีต่อระบบการศึกษาไทย อย่างไรก็ตามยืนยันว่าประชาชนสามารถจัดการศึกษาด้วยตัวเองได้อย่างมีคุณภาพ แม้วันนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับหรือให้อำนาจ แต่เห็นว่าการเข้าระบบคงไม่มีอะไรดีกว่าการไม่เข้าระบบ”

แม้การศึกษาวันนี้จะมีทั้งในและนอกระบบ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด เพียงแค่มีการพัฒนา และทำให้การศึกษาพัฒนาประสิทธิภาพของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง สร้างการเรียนรู้และพัฒนาให้เด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน ได้ทั้งกายและใจ ก็ถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างสูงสุดเดินหน้าประเทศไทยร่วมกัน ด้วยการเพิ่มพลังพลเมือง สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ในงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 2 ณ ไบเทคบางนา ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 1 เมษายน 2555


ข่าวที่เกี่ยวข้อง