ราคาน้ำมันปาล์ม กับอนาคตของอุตสาหกรรมไบโอดีเซล

เศรษฐกิจ
2 เม.ย. 55
18:22
29
Logo Thai PBS
ราคาน้ำมันปาล์ม กับอนาคตของอุตสาหกรรมไบโอดีเซล

โดย ดร. ศิวาลัย วรรุตม์

ความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตก ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น พลังงานทดแทนจึงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงภาวะราคาน้ำมันแพง ไบโอดีเซลเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนหลักที่รัฐบาลให้การสนับสนุน

ทว่าสถานการณ์ในปัจจุบันที่ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น ราคาน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล B100* มีความผันผวน เหล่านี้เป็นปัจจัยเชิงลบต่อต้นทุนการผลิตไบโอดีเซล แม้ว่ารัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซลอย่างเป็นรูปธรรม แต่การผลิตและการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B100 ยังมีอุปสรรค

ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซล ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบ WTI, Dubai และ Brent ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับประมาณ 105, 120 และ 125 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลตามลำดับ สาเหตุเกิดจากการที่สหรัฐและสหภาพยุโรปออกมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน เนื่องจากความกังวลเรื่องโครงการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ทำให้อิหร่านขู่ที่จะปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งหากการเจรจาระหว่างอิหร่านและชาติตะวันตกไม่สำเร็จอาจนำไปสู่การใช้กำลังทหารได้ในที่สุด และอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้นในภาวะราคาน้ำมันแพงเช่นนี้ ทำให้ทั่วโลกหันมาใช้พลังงานทดแทนอย่างไบโอดีเซลมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซลมีแนวโน้มสูงขึ้น

ทั้งนี้จากข้อมูลกระทรวงพลังงาน ไทยมีปริมาณการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B100 ในเดือนมกราคม 2012 เพื่อผสมและจำหน่ายเป็นน้ำมันดีเซล B5 สูงถึง 2.6 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 37% อินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับหนึ่งของโลก มีอัตราการผลิตน้ำมันปาล์มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2011 ผลิตเพิ่มขึ้น 7.63% จากปีก่อนหน้า และส่งออกไปยังจีนและอินเดียที่มีความต้องการน้ำมันปาล์มสูงขึ้น 5% ส่วนสหภาพยุโรปซึ่งมีนโยบายส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ เช่นไบโอดีเซล อย่างจริงจังเพื่อลดภาวะโลกร้อน ถือเป็นตลาดใหญ่ในการนำเข้าน้ำมันปาล์มเพื่อใช้ผลิตไบโอดีเซล เนื่องจากวัตถุดิบในยุโรปมีไม่เพียงพอ

แม้ว่าสหภาพยุโรปจะเผชิญปัญหาการชลอตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มในปี 2011 เพิ่มสูงขึ้นถึง 10% จากปีก่อนหน้า 

น้ำมันดิบราคาแพงเป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาน้ำมันปาล์มที่ใช้ผลิตไบโอดีเซลเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนที่แท้จริงของการผลิตน้ำมัน B100 เพิ่มสูงขึ้นด้วย ปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มอยู่ที่ระดับประมาณ 145 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล  และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เนื่องจากหากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ผลิตจากน้ำมันดิบมีราคาสูง ความต้องการน้ำมันปาล์มเพื่อใช้ผลิตไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทน และใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมโอลิโอเคมี ก็จะมีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังราคาของน้ำมันปาล์มที่จะปรับตัวสูงขึ้น และนั่นหมายถึงต้นทุนวัตถุดิบของการผลิตไบโอดีเซลก็จะเพิ่มสูงตามไปด้วย

จากการวิเคราะห์ของ EIC พบว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันไบโอดีเซล B100 มีมูลค่าสูงกว่าราคาน้ำมันดีเซลอยู่ประมาณ 20-30% เมื่อนำไปผสมเป็นน้ำมันไบโอดีเซล B5* จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นประมาณ 1-1.5% และการเพิ่มสัดส่วนน้ำมัน B100 ทุกๆ 5% ในน้ำมันดีเซล จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 25 สตางค์ต่อลิตร ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัจจัยด้านต้นทุนถือเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมไบโอดีเซล

ปริมาณน้ำมันปาล์มที่ไม่แน่นอนในประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมไบโอดีเซล การผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทยยังพึ่งพาปาล์มน้ำมันเป็นหลักทำให้เสี่ยงต่อการขาดแคลนวัตถุดิบ หากเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันได้ผลผลิตน้อย น้ำมันปาล์มดิบเกิดการขาดแคลน จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตน้ำมัน B100 ที่เพิ่มสูงขึ้น

ในอดีตไทยมีผลผลิตปาล์มน้ำมันไม่เพียงพอต่อการบริโภคและนำไปผลิตไบโอดีเซล แต่ในปัจจุบันผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยมีปริมาณเกินความต้องการ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตไบโอดีเซลก็ยังมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งสาเหตุเกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น มีการส่งออกน้ำมันปาล์มจนเกินตัว ทำให้ผลผลิตมีไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ ดังเช่นสาเหตุที่เกิดการขาดแคลนน้ำมันปาล์มในปี 2011 เนื่องมาจากมีการส่งออกน้ำมันปาล์มกว่า 200,000 ตันในปี 2010 ทำให้ต้องเลื่อนการบังคับใช้น้ำมันไบโอดีเซล B5 ทั่วประเทศ ในเดือนมกราคม 2011 ออกไป

แม้ว่าการใช้น้ำมันปาล์มมาทดแทนเพื่อลดการใช้น้ำมันดีเซลจะทำให้ต้นทุนราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการผลิตไบโอดีเซล คือการพยุงราคาปาล์มน้ำมันเพื่อส่งเสริมรายได้ของเกษตรกร และลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายสนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันรัฐบาลได้บังคับใช้น้ำมันไบโอดีเซล B5 และมีแนวทางเพิ่มปริมาณไบโอดีเซล B100 ที่ผสมในน้ำมันดีเซลในสัดส่วนที่มากขึ้น 

ในแผนพัฒนาไบโอดีเซลปี 2008-2022 รัฐส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาการผลิตไบโอดีเซล และกำหนดให้น้ำมันไบโอดีเซล B10* เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค ซึ่งการที่จะทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 มากขึ้น รัฐบาลจะต้องมีนโยบายชดเชยไม่ให้ราคาสูงกว่าไบโอดีเซล B5

นอกจากนี้การใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้ในประเทศไทยยังไม่รับรองความสามารถของเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล B100 เกินกว่า 5% โดยปริมาตร ทั้งที่ขณะนี้ในยุโรปได้มีการรับรองความสามารถของเครื่องยนต์ในการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B7 แล้ว

* B100 คือน้ำมันไบโอดีเซลบริสุทธิ์
   B5 คือ น้ำมันดีเซลที่ผสมกับไบโอดีเซล (B100) โดยมีอัตราส่วน ไบโอดีเซล (B100) 5% และ น้ำมันดีเซล 95%
   B10 คือ น้ำมันดีเซลที่ผสมกับไบโอดีเซล (B100) โดยมีอัตราส่วน ไบโอดีเซล (B100) 10% และ น้ำมันดีเซล 90%


ข่าวที่เกี่ยวข้อง