วิศวกรรมสถานฯเตรียมตรวจสอบทางเดินเท้า ถ.พระราม 3 ทรุด

สังคม
3 เม.ย. 55
07:37
7
Logo Thai PBS
วิศวกรรมสถานฯเตรียมตรวจสอบทางเดินเท้า ถ.พระราม 3 ทรุด

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหาสาเหตุการทรุดตัวของทางเดินทางเท้าบริเวณถนนพระราม 3 ในทันทีหากได้รับการประสานงานจาก กรุงเทพมหานคร ขณะที่รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเข้าตรวจสอบความเสียหายแล้ว เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากกำแพงกันดินทรุดตัว และเกิดนน้ำในคลองที่อยู่ติดทางเท้ากัดเซาะ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบและออกแบบร่วมกันในการวางแนวระบบสาธารณูปโภคอีกครั้ง

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายวินัย ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการสำนักการโยธาลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายกรณีทางเดินเท้าทรุดตัว บริเวณหน้าร้านอาหารไก่ย่างกลางกรุงระหว่างซอย 21 - 23 ถนนพระรามที่ 3 เขตบางคอแหลม โดยมีความลึกเกือบ 3 เมตร กว้าง 5 เมตร ยาวประมาณ 22 เมตร ส่งผลให้ท่อประปา และสายสาธารณูปโภคที่อยู่ใต้ดินเสียหาย

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น คาดว่าน่าจะเกิดจากกำแพงกันดินทรุดตัว ประกอบกับน้ำกัดเซาะ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับคลองข้างวัดเรืองยศ ทำให้ดินสไลด์ตัวลง แล้วดึงทางเท้าลงไปด้วย ทั้งนี้ บริเวณดังกล่าวมีการปรับปรุงทางเท้ามาโดยตลอด ทำให้มีน้ำหนักที่กดทับมาก จึงไม่สอดรับกับแนวกำแพงกันน้ำ และถนนพระรามที่ 3 ที่ก่อสร้างมานานถึง 20 ปี และมีคลองอยู่ในแนวเส้นทาง

สำหรับการดำเนินการซ่อมแซมนั้นกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้สำนักการโยธาประสานสำนักการระบายน้ำเร่งนำวัสดุที่ตกลงไปในคลองขึ้นมาก่อน รวมทั้งประสานกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมตรวจสอบ และออกแบบร่วมกันในการวางแนวระบบสาธารณูปโภคอีกครั้ง

นายธเนศ วีระศิริ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากกรุงเทพมหานครให้ตรวจสอบการทรุดตัวของทางเดินทางเท้า ถนนพระรามที่ 3 และหากได้รับการประสานก็จะส่งทีมงานลงพื้นที่ในบ่ายวันนี้

นายธเนศ กล่าวอีกว่า สาเหตุการทรุดตัวเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ท่อประปาแตกหรือรั่ว กำแพงกันดินชำรุดเสื่อมสภาพ เพราะก่อสร้างมานาน และถูกน้ำกัดเซาะ หรือน้ำในคลองลดอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดเป็นสาเหตุทำให้เกิดการการเคลื่อนไหลของดินในทางเดินทางเท้า ส่วนการซ่อมแซมอาจจะทำกำแพงกันดินขึ้นใหม่ เพื่ออุดรอยแตก และป้องกันน้ำในคลองกัดเซาะ
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง