เอแบคโพล เผยนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ กระทบหนักธุรกิจเอสเอ็มอี ชี้รัฐบาลไม่ชัดเจนแนวทางช่วยเหลือ

เศรษฐกิจ
5 เม.ย. 55
10:05
10
Logo Thai PBS
เอแบคโพล เผยนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ กระทบหนักธุรกิจเอสเอ็มอี ชี้รัฐบาลไม่ชัดเจนแนวทางช่วยเหลือ

เอแบคโพล เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเกี่ยวกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท – เงินเดือนหมื่นห้า ชี้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสถานประกอบการขนาดเล็ก ในขณะที่แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวยังขาดความชัดเจน ทั้งยังสร้างความสงสัยว่าอาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนายทุนบริษัทขนาดใหญ่หรือไม่

นายวีรศักดิ์ อนุสนธิวงษ์ นายกสมาคมการบริหารงานบุคคล (PAAs) เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับ ดร.นพดล  กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธุรกิจ เอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทำวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อนของผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนต่อนโยบายค่าแรง 300 บาท และเงินเดือน 15,000 บาท กรณีศึกษาตัวอย่างผู้ประกอบการ SMEs ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และประชาชนใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม  และภูเก็ต จำนวน 715 บริษัท และประชาชนทั่วไปจำนวน 1,249 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม – 4  เมษายน 2555 ที่ผ่านมา

ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างกลุ่ม SMEs เกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 94.0 ระบุรับทราบข่าวนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 6.0 ระบุไม่ทราบข่าวการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ นอกจากนี้สถานประกอบการขนาดเล็กหรือธุรกิจ SMEs ส่วนมากหรือร้อยละ 86.7 ระบุได้รับผลกระทบมากจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีเพียงร้อยละ 13.3 เท่านั้นที่ระบุได้รับผลกระทบน้อยประเด็นที่น่าพิจารณาคือตัวอย่าง SMEs จำนวนมากหรือร้อยละ 85.5 ระบุรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลต่อสถานประกอบการขนาดเล็กหรือธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.0 คิดว่านโยบายนี้เป็นนโยบายประชานิยมที่มุ่งหาเสียงหรือคะแนนนิยมมากจนเกินไป  นอกจากนี้ ผลการสัมภาษณ์เจาะลึกพบว่า กลุ่ม SMEs จำนวนมากมีความเคลือบแคลงสงสัยในนโยบายของรัฐบาลว่านโยบายดังกล่าวนี้กำลังเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนบริษัทขนาดใหญ่แต่ละเลยกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่สามารถอยู่รอดได้

เมื่อสอบถามกลุ่มประชาชนทั่วไป ต่อผลกระทบที่ได้รับจากนโยบายค่าแรง 300 บาท และเงินเดือน 15,000 บาทต่อเดือน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.5 ระบุราคาสินค้าและบริการได้เพิ่มสูงขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว รองลงมาร้อยละ 65.6 ระบุต้นทุนนายจ้างเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 60.8 ระบุคนงานถูกเลิกจ้าง ร้อยละ 59.9 ระบุปรับปรุงคุณภาพการทำงาน ร้อยละ 55.8 ระบุบริษัทและโรงงานขนาดเล็กจะปิดตัวลง และร้อยละ 1.5 ระบุต้องทำงานให้ได้มากขึ้น ตามลำดับ

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่ประชาชนอยากได้จากรัฐบาลมากที่สุด พบว่าตัวอย่างเกือบครึ่งหรือร้อยละ 47.5 ระบุการควบคุมราคาสินค้าและบริการ รองลงมาร้อยละ 16.3 ระบุการประกันสุขภาพ  ร้อยละ 9.8 ระบุอยากให้ช่วยเหลือในเรื่องที่ทำกิน ส่งเสริมการประกอบอาชีพและธุรกิจ นอกจากนี้ประเด็นอื่นๆ ที่ประชาชนระบุเพิ่มเติม ได้แก่ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันและเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน การช่วยเหลือด้านการศึกษาของบุตรหลาน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการดูแลปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีต่อความกังวลว่าจะตกงานจากนโยบายเงินเดือน 15,000 บาท พบว่า ตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 62.8 ระบุรู้สึกวิตกกังวลว่าจะตกงาน ในขณะที่ร้อยละ 37.2 ระบุไม่กังวล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง