หลายชาติคลายกังวล หลัง "เกาหลีเหนือ" ปล่อยจรวดดาวเทียมล้มเหลว

ต่างประเทศ
13 เม.ย. 55
14:52
9
Logo Thai PBS
หลายชาติคลายกังวล หลัง "เกาหลีเหนือ" ปล่อยจรวดดาวเทียมล้มเหลว

หลายชาติต่างคลายความกังวล หลังจากที่เกาหลีเหนือประสบความล้มเหลว ในการปล่อยจรวดนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ ช่วงเช้านี้

สถานีโทรทัศน์เคอาร์ที ของทางการเกาหลีเหนือประกาศความล้มเหลวในการปล่อยจรวดอุนฮา 3 เพื่อนำส่งดาวเทียมกวางเมียงซอง 3 ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ เมื่อเวลา 7.38 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับเวลา 5.38 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่เทคนิค และผู้เชี่ยวชาญกำลังหาสาเหตุของความล้มเหลว ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการของเกาหลีใต้ระบุว่าจรวดระเบิดแตกออกเป็นเสี่ยง และตกลงในทะเลหลังจากถูกปล่อยขึ้นไปไม่นาน และเคลื่อนที่ไปในอากาศได้เพียง 120 กิโลเมตรจากจุดปล่อย

เกาหลีเหนือ แจ้งล่วงหน้าเป็นเวลาหลายสัปดาห์ว่าต้องการปล่อยจรวดนำส่งดาวเทียมเหนือทะเลจีนตะวันออก แต่ถูกหลายประเทศคัดค้าน เพราะเห็นว่าเป็นการละเมิดต่อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเชื่อว่าเป็นการแอบแฝงการทดลองยิงขีปนาวุธพิสัยไกลของเกาหลีเหนือ แต่เกาหลีเหนือยืนยันว่าเป็นภารกิจเพื่อสันติ และเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองโอกาสครบรอบ 100 ปีวันคล้ายวันเกิดของนายคิม อิลซุง ผู้ก่อตั้งประเทศ

ชาวเกาหลีเหนือบางส่วน ออกมาแสดงความเห็นหลังจากทราบข่าวนี้ว่า โดยระบุว่าแม้การปล่อยจรวดนำส่งดาวเทียมจะล้มเหลวในครั้งนี้ แต่ก็มีความภูมิใจที่ได้พยายามในการปล่อย และมั่นใจว่าหลังจากความล้มเหลว เกาหลีเหนือจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น และจะประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมในอนาคตอย่างแน่นอน

ขณะที่หลายชาติต่างคลายความกังวล หลังจากที่การปล่อยจรวดของเกาหลีเหนือล้มเหลว ทางการฟิลิปปินส์ได้ประกาศยกเลิกเขตห้ามบิน เขตห้ามเดินเรือ และเขตห้ามหาปลา ในทะเลด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

ขณะที่ น.ส.จูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ประณามภารกิจนี้ของเกาหลีเหนือ แม้ว่าล้มเหลว โดยระบุว่าเป็นการกระทำที่ยั่วยุ และเป็นอันตราย เธอได้เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจัดการกับเรื่องนี้

ส่วนอดีตทูตสหรัฐฯประจำเกาหลีใต้วิเคราะห์ว่าการแข่งขันกันด้านผลประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่ทางการฝ่ายพลเรือน และฝ่ายทหาร อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกาหลีเหนือตัดสินใจปล่อยจรวดครั้งนี้ ซึ่งเป็นการผิดข้อตกลงกับสหรัฐฯ ซึ่งมีจีนเป็นตัวกลางในการประสานงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้สหรัฐฯต้องยกเลิกการส่งความช่วยเหลือด้านอาหารเข้าไปในเกาหลีเหนือ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง