ย้อนรอยดู มาตรการประหยัดพลังงาน 3 รัฐบาล

การเมือง
24 เม.ย. 55
03:15
24
Logo Thai PBS
ย้อนรอยดู มาตรการประหยัดพลังงาน 3 รัฐบาล

ปี 2533 เกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน ทำให้รัฐบาลในสมัยนั้น เริ่มให้ความสำคัญ กับมาตรการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง และมีแผนงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2534 และการออกพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในปี พ.ศ. 2535 เพื่อให้มีการจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน และดำเนินการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง

นโยบายประหยัดพลังงาน เป็นส่วนหนึ่งในคำแถลง นโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ซึ่งคำแถลงของนายกรัฐมนตรีแต่ละสมัย หมายถึง การบ่งบอกและเป็นเงื่อนไข ก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน โดยรัฐบาลสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายพลังงาน เน้นสร้าง ความมั่นคงทางด้านพลังงาน ด้วยการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ เร่งรัดให้มีการลงทุนสำรวจและพัฒนาพลังงานทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการประหยัดพลังงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่วนภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคประชาชน มีมาตรการจูงใจที่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาผลิตและใช้พลังงาน ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

คำแถลงนโยบายพลังงาน ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อรัฐสภา เน้นส่งเสริมการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพ ดำเนินนโยบายด้านพลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ โดยสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและชีวมวล ส่งเสริมการอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน ทั้งในภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม บริการ และขนส่ง โดยรณรงค์ให้เกิดวินัยและสร้างจิตสำนึกในการประหยัดพลังงาน และสนับสนุนให้ ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงานและ สนับสนุนให้ครัวเรือนลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุด

คำแถลงนโยบายของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อรัฐสภา ระบุ จะส่งเสริมและผลักดันการอนุรักษ์พลังงานอย่างเต็มรูปแบบ โดยลดระดับการใช้พลังงานต่อผลผลิต ลงร้อยละ 25 ภายใน 20 ปี และมีการพัฒนาอย่างครบวงจร สร้างจิตสำนึกของผู้บริโภคในการใช้พลังงานอย่างประหยัด จริงจังและต่อเนื่องทั้งภาคการผลิต ภาคการขนส่ง และภาคครัวเรือน

ขณะที่มาตรการอื่นๆ ที่ทุกรัฐบาล พยายามรณรงค์เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า ก็จะเห็นว่าแทบทุกรัฐบาล ใช้มาตรการไม่ต่างกัน ตั้งแต่การเปิดปิดไฟฟ้า ปิดไฟป้ายโฆษณา หรือแม้กระทั่ง ขอความร่วมมือให้เปิดเครื่องปรับอากาศในอาคารและที่อยู่อาศัยเท่าที่จำเป็น อุณหภูมิต้องไม่ต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียส ตั้งแต่รัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี 2521 และเมื่อวันที่ 10 เมษายน รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ "ปฏิบัติการช่วยชาติ งดใช้พลังงาน 1 ชั่วโมง" และขอให้คณะรัฐมนตรี เข้าร่วมโดยการปรับอุณหภูมิในห้องประชุมเพียง 25-27 องศาเซลเซียส และเชิญร่วมกันถอดสูทนั่งประชุม โดยกิจกรรมดังกล่าว สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้515 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลงได้ 177 ตัน และลดการใช้น้ำมันลง 56,736 ลิตร โดยอนาคต กฟผ. ตั้งเป้า5 ปี หากำลังผลิตไฟฟ้า 20,000 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ในแถบประเทศเพื่อนบ้านเช่น ประเทศพม่า เวียดนาม กัมพูชาและลาว โดยจะรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว จำนวน 7,000 เมกะวัตต์ พม่า 1,500 เมกะวัตต์ จีน 3,000 เมกะวัตต์ กัมพูชา ยังไม่ระบุจำนวน และมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง