สสส.เผยสาเหตุเด็กจมน้ำเสียชีวิตส่วนใหญ่ จาก "สภาพแวดล้อม-ความประมาท"

สังคม
3 พ.ค. 55
07:05
29
Logo Thai PBS
สสส.เผยสาเหตุเด็กจมน้ำเสียชีวิตส่วนใหญ่ จาก "สภาพแวดล้อม-ความประมาท"

เหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา พบว่า เด็กเสียชีวิตมากกว่า 60 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากการจมน้ำมีสาเหตุหลักมาจากความประมาทของผู้ปกครองและชุมชนขาดการจัดการสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ เผยรายงานผลการวิเคราะห์เหตุการเสียชีวิตในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ในมหาอุทกภัยปี 2554 หลังทำการศึกษาวิเคราะห์เหตุการเสียชีวิตของเด็กใน 16 จังหวัด พบว่า เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปีเสียชีวิตโดยมีเหตุการตายที่สัมพันธ์กับภาวะน้ำท่วมรวม 62 ราย จากทั้งหมด 664 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.3

โดยกลุ่มเด็กอายุต่าง ๆ กัน กลุ่มอายุน้อยกว่า 5 ปี กลุ่มอายุ 5-9 ปี กลุ่มอายุ 10-14 ปี มีจำนวนการเสียชีวิตที่เท่า ๆ กัน คือ ร้อยละ 33 ในแต่ละกลุ่ม จังหวัดที่มีจำนวนเด็กเสียชีวิตมากที่สุด คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิจิตร และนครสวรรค์

ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการจมน้ำมากถึงร้อยละ 96 โดยแยกตามลักษณะเหตุการเสียชีวิตเป็น 4 แบบ คือ การพลัดตกลงไปในแหล่งน้ำ จากบริเวณบ้านหรือศูนย์พักพิง มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้ นั่งเล่นบริเวณน้ำตื้นแต่ไหลเชี่ยว หรือ สัญจรโดยการเดิน หรือ ใช้ยานพาหนะผ่านบริเวณที่น้ำไหลเชี่ยว ส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี และ 10-14 ปี ซึ่งยังขาดทักษะ และประเมินความเสี่ยงผิดพลาด การสัญจรทางน้ำ โดยเรือแบบต่าง ๆ เนื่องจากเรือล่ม หรือ เรือบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าจะรับได้ หรือ เรือที่ประสบเหตุชนกับโครงสร้างใต้น้ำ ซึ่งผู้นำเรือมองไม่เห็น

และลักษณะสุดท้ายเสียชีวิตจากการร่วมปกป้องชุมชน โดยที่ยังขาดประสบการณ์และการจัดการที่ดีร่วมกับชุมชน โดยเด็กหลายคนไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่ ขณะที่บางชุมชนเด็กเสียชีวิตขณะปฏิบัติงานช่วยเหลือชุมชน

นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า แม้การเสียชีวิตของเด็กจะมีอัตราลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่การเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำในช่วงน้ำท่วม กลับเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จากอัตราเฉลี่ยปกติวันละ 4 รายต่อวันหากประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้น พบว่า ครอบครัวนับเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ เนื่องจากผู้ปกครองเคยชินกับการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ประเมินเลินเล่อ

สำหรับแนวทางการป้องกันนั้น หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยฯ เสนอว่า ควรเริ่มตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น โดยกั้นประตู หรือ รั้วไม่ให้เด็กออกไปนอกบ้าน หรือ ตกไปในบริเวณแหล่งน้ำ ที่มีความสูงตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป และ ต้องไม่มีช่องรูที่กว้างกว่า 9 เซนติเมตรเพื่อเป็นช่องให้เด็กลอดออกไปได้ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ควรให้เด็กอยู่ในระยะที่มองเห็น และเข้าถึงได้ง่าย ควรมีชูชีพประจำตัวเด็ก 1 คน ต่อ 1 ตัว ในขนาดที่เหมาะสมกับเด็ก ที่สำคัญ ชุมชน และ โรงเรียน ควรสร้างความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยง ข้อควรระวัง และ ข้อปฏิบัติเมื่อเกิดอุทกภัย เพื่อป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง