ค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าครองชีพ: ปัญหาไก่กับไข่

9 พ.ค. 55
08:50
30
Logo Thai PBS
ค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าครองชีพ: ปัญหาไก่กับไข่

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ชี้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำช่วยเรื่องค่าครองชีพได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น หากขาดการจัดการเรื่องราคาอาหารให้เพิ่มขึ้นอย่างสมดุลกับค่าครองชีพอื่นๆ

 ปัญหาปากท้องไม่เคยจางหายไปจากสังคม  โดยเฉพาะผู้ได้รับค่าแรงขั้นต่ำดูเหมือนว่ารายได้ที่รับมานั้น ไม่พอหรือแทบไม่พอต่อการใช้จ่ายสำหรับการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดปัญหาการกู้หนี้ยืมสินซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา   ลองย้อนไปดูค่าแรงขั้นต่ำของกทม.ในช่วง 3 ทศวรรษ จะเห็นได้ว่าค่าแรงขั้นต่ำเมื่อปรับด้วยเงินเฟ้อนั้น ไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าใดเลย ตัวอย่างเช่น ในปี 2544 ที่ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯเท่ากับ 165 บาทต่อวันนั้น หากปรับด้วยเงินเฟ้อแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นค่าจ้างเทียบเท่าที่ราคาปัจจุบันที่ 216 บาท เป็นต้น  ซึ่งเป็นระดับที่ไม่ต่างกันเลยกับค่าแรงขั้นต่ำก่อนปรับเป็น 300 บาทตามนโยบายรัฐบาล   

 
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ค่าแรงที่ปรับด้วยเงินเฟ้อแล้วเคยไต่ไปสูงสุดในปี 2539 ก่อนจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง และ เพิ่งจะมาขยับสูงขึ้นอีกครั้งก็ด้วยการปรับค่าแรงเป็น 300 บาท เมื่อเมษายนที่ผ่านมา  แต่ดูเพียงค่าแรงที่เทียบเป็นราคาปัจจุบันแล้วอาจยังไม่เห็นภาพ  เพราะควรจะดูอำนาจซื้อประกอบกันไปด้วย เนื่องจากหากค่าแรงได้รับดูสูงก็จริงอยู่แต่ถ้าราคาสินค้าและบริการวิ่งแซงหน้าค่าแรงที่ได้รับเพิ่ม ก็เหมือนอำนาจซื้อของเราถอยหลังนั่นเอง
 
ในภาพรวมอำนาจซื้อของผู้ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ มีแนวโน้มลดลงโดยตลอด  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แรงกดดันปัญหาค่าครองชีพจะหนักขึ้นเรื่อยๆ และ กลายเป็นประเด็นทางการเมืองใช้ในการหาเสียงทุกยุคสมัย แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นตอ  นั่นคือ ราคาอาหารซึ่งเป็นปัจจัยสี่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการเปลี่ยนแปลงของค่าแรงเรื่อยมา ขณะที่การเพิ่มของราคาปัจจัยสี่อื่นๆ ดูในภาพรวมแล้วต่ำกว่า (ช่วงปี 2525-2549 ราคาอาหารสด และ ค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ  5.3 และ 4.5 ต่อปีตามลำดับ, ช่วงปี 2550- เม.ย.2555 ราคาอาหารสดเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8  ส่วนค่าจ้างหลังปรับ  เพิ่มเป็นเฉลี่ยร้อยละ 9.6  ถ้าเป็นก่อนปรับ  จะเพิ่มประมาณร้อยละ 5.5 ต่อปี)  การปรับค่าแรง 300 บาท หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อต้นไตรมาสสองปีนี้ ช่วยดึงค่าเฉลี่ยให้ชนะได้ แต่นี่แค่เริ่มต้นเท่านั้น เนื่องจากราคาอาหารในระยะต่อไปต้องสะท้อนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น จึงมีความโน้มเอียงที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าแรงที่ได้รับมากขึ้นกันอีกครั้งหนึ่ง กลายเป็นปัญหาโลกแตกไก่กับไข่กันต่อไป 
 
ดังนั้น แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชนอย่างยั่งยืน ควรจะเป็นแนวทางในการบริหารเรื่องราคาอาหารสำหรับผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นระบบควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพภาคการเกษตรไทยอย่างต่อเนื่อง ให้สมกับที่ประเทศไทยซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแหล่งหนึ่งของโลก  สามารถที่จะช่วยลดภาระของคนจนในประเทศของเราเอง และยังให้ประโยชน์ตกถึงมือเกษตรกรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย  ไม่เช่นนั้น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพื่อไล่ตามค่าครองชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าอาหาร  แต่เพียงด้านเดียว จะเหมือนเป็นการวิ่งตามอย่างเหน็ดเหนื่อยไม่รู้จบ
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง