สพฐ.เสนอตั้งโรงเรียนคู่แฝด-ขยายช่องทางรับนร.แก้ปัญหาคัดเด็กเข้าม. 4

สังคม
21 พ.ค. 55
12:04
15
Logo Thai PBS
สพฐ.เสนอตั้งโรงเรียนคู่แฝด-ขยายช่องทางรับนร.แก้ปัญหาคัดเด็กเข้าม. 4

เลขาธิการสพฐ. ยอมรับว่า หนักใจเพราะอาจเกิดการลอกเลียนแบบในการออกมายื่นข้อเรียกร้องเหมือนกับโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) ในพื้นที่อื่นๆ ขณะเดียวกันเตรียมเสนอทางออกปัญหา 3 แนวทาง เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การเข้ารับนักเรียนให้เหมาะสม

นายมงคลกิตติ์ สุขสิทารานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของชาติ เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.สุนัย หาเรือนพืชน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.เพื่อให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและความเคลื่อนไหวทางธุรกรรมการเงินของนายสุวัฒน์ วิวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และผู้บริหารโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงอีก 19 แห่ง ที่อาจเข้าข่ายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับเงินบริจาคเข้าโรงเรียน หรือ แป๊ะเจี๊ยะ เพื่อแลกกับที่นั่งเข้าเรียนต่อ

โดยระบุว่า โรงเรียนหลายแห่งมีการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยตั้งแต่ 50,000-1,500,000 บาท โดยเฉพาะที่โรงเรียนบดินทรเดชาฯ ซึ่งมีพยานบุคคลจากกลุ่มผู้ปกครองว่า ทางโรงเรียนเรียกรับเงิน 200,000-300,000 บาท ซึ่ง ปปง.ได้รับเรื่องไว้ตรวจสอบและจะเรียกพยานหลักฐานเพิ่มเติมในภายหลัง

วันเดียวกัน มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาทั่วประเทศ และผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงเพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 รวมทั้ง กรณีปัญหานักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชาไม่ได้เข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 ในโรงเรียนเดิม โดยนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า เบื้องต้นเตรียมเสนอทางเลือกไว้ 3 แนวทางให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณา โดยแนวทางแรก จะเสนอให้พัฒนาโรงเรียนคู่พัฒนาให้เป็นเนื้อเดียวกันกับโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โดยให้มีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ รวมทั้งใช้บุคลากรครูของโรงเรียนหลัก ซึ่งแนวทางดังกล่าวมองว่า สามารถดำเนินการได้ทันที

ส่วนแนวทางที่ 2 คือ ให้ตั้งโรงเรียนคู่แฝด โดยใช้ชื่อเดียวกับโรงเรียนที่มีชื่อเสียง แต่แนวทางนี้ต้องใช้เวลาจัดตั้งและแนวทางสุดท้าย คือ การขยายช่องทางให้นักเรียนได้เรียนต่อที่เดิม แต่ต้องคำนึงถึงการเพิ่มศักยภาพ รวมทั้งจำนวนห้องเรียนให้เพียงพอและเหมาะสม

ขณะเดียวกันเตรียมตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับพฤติกรรมไม่โปร่งใสในการเรียกรับเงินของโรงเรียนบดินทรเดชฯ ภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งหากพบว่าเป็นจริง ก็จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป ขณะที่การเยียวยานักเรียนจะหาช่องทางช่วยเหลือแต่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ที่ทางกระทรวงฯกำหนดไว้ด้วย

เลขาธิการสพฐ. ยอมรับว่า หนักใจว่าจะเกิดการลอกเลียนแบบเช่นเดียวกับกรณีโรงเรียนบดินทรเดชาฯในพื้นที่อื่นและวันพรุ่งนี้ (22 พ.ค.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการแก้ปัญหาในแนวทางใด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง