ถอดรหัส “คอร์รัปชั่น” ภาคภาษา “คำแสลง”

23 พ.ค. 55
13:00
373
Logo Thai PBS
ถอดรหัส “คอร์รัปชั่น” ภาคภาษา “คำแสลง”

“Corruption” หรือ “คอร์รัปชั่น” ที่เรามักเข้าใจและตีความไปในบริบททางการเมืองอยู่เสมอ ว่าเป็นการ “ทุจริตฉ้อฉล” นั้น ในภาษาไทยเรียกเต็มๆว่า “การทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ” นั้น ซึ่งในสมัยโบราณ พฤติกรรมการคอร์รัปชั่นจะถูกเรียกในเชิงประจานว่า “ฉ้อราษฏร์” และ “บังหลวง”

ขณะเดียวกัน หลายคนก็อาจจะเคยได้ยินคำว่า “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” เวลาไปติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานราชการทั้งหลาย การเรียกเก็บค่าน้ำร้อนน้ำชา โดยข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็เพื่อการยกระดับการให้บริการที่ประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น หรือที่เข้าใจว่าเป็น “เงินสินบน” หรือ “เงินใต้โต๊ะ” นั่นเอง

นอกจากนี้วงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีงบประมาณมหาศาลอาจเรียกว่าเงินสินบนเหล่านี้ว่า “ค่าคอมมิชชั่น” แต่หากอยู่ในวงการศึกษา เราก็มักจะเรียกว่า “ค่าแป๊ะเจี๊ย” ซึ่งกำลังเป็นข่าวดังรับเทศกาลเปิดภาคเรียน 2555 อยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ ก็ยังมีคำว่า “เก๋าเจี๊ย” ที่หลายคนสับสนกับคำว่าแป๊ะเจี๊ย ว่ามีความหมายต่างกันอย่างไร คำว่า “แป๊ะเจี๊ย” ในกฎหมายใช้คำว่า “เงินกินเปล่า”  ซึ่งก็คือการซื้อสิทธิเข้าเรียนในโรงเรียน และมักใช้กับโรงเรียนเอกชน จึงเป็นเงินที่เรียกกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะโรงเรียนเอกชนต้องลงทุนก่อสร้างโรงเรียน จ่ายเงินเดือนครู โดยที่รัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลือ ทั้งนี้ผู้จ่ายก็ยินยอมจ่ายเพื่อให้ลูกของตนเข้าเรียนในโรงเรียนดีๆ แต่ภายหลังโรงเรียนรัฐบาลก็เรียกแป๊ะเจี๊ยบ้าง แต่มักเรียกว่า “เงินใต้โต๊ะ” โดยอ้างว่าเอาเงินเข้าบำรุงโรงเรียน แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นผลประโยชน์ของผู้บริหาร กแป๊ะเจี้ยที่โรงเรียนรัฐบาลเรียกเก็บนี้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการ "คอร์รัปชั่น" นั่นเอง

ส่วนคำว่า “เก๋าเจี๊ย” มีที่มาจากพ่อค้าจีนสมัยก่อน ซึ่งถูกตำรวจรีดไถ หากไม่ยอมจ่ายก็จะถูกตำรวจกลั่นแกล้ง ถ้าจ่ายก็จะได้รับความคุ้มครอง ไม่ถูกจับในความผิดเล็กน้อย พ่อค้าจีนจึงยอมจ่ายเพื่อตัดปัญหาการถูกกลั่นแกล้ง ทำให้ผู้รับติดเป็นนิสัย หากไม่ได้รับสินน้ำใจ ก็จะไม่ทำงาน หรือเรียกได้ว่า เงินน้อยงานสะดุด

คำโบราณที่มีความหมายใกล้เคียงกับเงินสินบนอย่างคำว่า “ส่วย” หรือ “ส่วยสาอากร” นั้น ก็เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกในการจัดเก็บภาษีอากรในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (พ.ศ.1893-พ.ศ. 2310) แต่ปัจจุบัน “ส่วย” จะใช้เรียก “รายได้นอกระบบ” ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะตำรวจ มักเรียกเก็บจากผู้ประกอบการต่างๆที่อาจทำผิดข้อกฎหมายไปบ้าง เพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี หรืออาจจะเรียกว่าเป็น “ค่าคุ้มครอง” ก็ว่าได้

ส่วนคำว่า “ฮั้ว” นั้น จะถูกใช้ในวงการรับเหมาก่อสร้างประมูลงานของรัฐเป็นส่วนมาก ซึ่งเราจะได้ยินคำว่า “ฮั้วประมูล” อยู่บ่อยครั้ง สำหรับรากศัพท์ของคำว่า “ฮั้ว” แปลว่า “สามัคคี” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งกลายเป็นพฤติกรรมที่ผู้รับเหมากับข้าราชการร่วมกัน “ทุจริตฉ้อฉล” อย่างที่ได้กล่าวมา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง