ตรวจพบขบวนการขนข้าวลาวข้ามลำน้ำโขง หวังสวมสิทธิ "โครงการรับจำนำ" ตอนที่ 2

24 พ.ค. 55
15:25
12
Logo Thai PBS
ตรวจพบขบวนการขนข้าวลาวข้ามลำน้ำโขง หวังสวมสิทธิ "โครงการรับจำนำ" ตอนที่ 2

หลังจากที่ไทยพีบีเอสติดตามตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวและพบว่า มีขบวนการลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทย ตามแนวชายแดนแม่น้ำโขง จังหวัดอุบลราชธานี เชื่อมโยงกับข้อมูลผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรที่ระบุว่า อาจเป็นไปเพื่อนำข้าวมาเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลให้ราคารับจำนำไว้ค่อนข้างสูง

<"">
 
<"">

จากการติดตามขบวนการขนข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทย เจ้าหน้าที่สามารถติดตามไปจนพบสถานที่รับซื้อข้าวเหล่านี้แห่งหนึ่ง อยู่ไม่ห่างจากท่าเรือที่มีการขนข้าวขึ้นในฝั่งประเทศไทยและเมื่อตรวจสอบต่อไปยังพบข้อมูลที่เชื่อได้ว่า ข้าวเหล่านี้ถูกนำไปผสมรวมกับข้าวของเกษตรกรไทยเพื่อเข้าโครงการรับจำนำ 

ภาพการขนย้ายข้าวจากฝั่งประเทศลาวที่บริเวณ แขวงสาละวัน เป็นหลักฐานที่เห็นได้ชัดว่ามีรูปแบบการจัดทำพื้นที่ขนย้ายในลักษณะถาวร มีทั้งจุดพักข้าว มีลำรางส่งข้าวลงมาจากที่สูงเพื่อส่งลงเรือจากฝั่งไทยที่ทยอยมารอรับอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะล่องไปประมาณ 5 กิโลเมตร ไปยังจุดพักข้าวที่เป็นสันดอนกลางน้ำฝั่งประเทศลาวเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม และขนถ่ายใส่เรือขนาดเล็กนำมาส่งที่ฝั่งประเทศไทยใน ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี และใส่รถกระบะที่เวียนมารับหลายคันเพื่อบรรทุกข้าวออกไป

พ.จ.อ.ยิ่งยง จันทร์จิระ เจ้าหน้าที่หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง  หรือ นรข.เขตอุบลราชธานี เผยว่า มีอาคารที่มีลักษณะคล้ายเป็นทั้งท่าข้าว เป็นทั้งโรงสีเพราะมีลักษณะการบรรจุข้าวใส่กระสอบเตรียมส่งต่อด้วย จุดนี้อยู่ห่างจากจุดที่รับข้าวริมแม่น้ำโขงเพียงประมาณ 20 กิโลเมตร โดยระบุว่า นี่เป็นจุดที่รับซื้อข้าวจากฝั่งลาว  
รวมถึงจากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ พ.จ.อ.ยิ่งยง ถึงขบวนการรับซื้อข้าวจากประเทศลาว ก็พบว่า มีคำสั่งในการรับซื้อข้าวในพื้นที่ดังกล่าวจริง รวมถึงยืนยันเป็นโรงสีแห่งเดียวกัน รวมถึงมีการกำหนดราคาการรับซื้อข้าวอย่างชัดเจน 

 
จากหลักฐานดังกล่าวจึงค่อนข้างชัดเจนว่า มีการสั่งซื้อข้าวจากประเทศลาวโดยพ่อค้าชาวไทย และเป็นการนำข้าวเข้ามาโดยไม่ผ่านกระบวนการทางศุลกากร ก่อนจะถูกส่งต่อไปยังโรงสีเพื่อส่งต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ

รวมถึงข้อมูลนี้ที่ชัดเจนว่าข้าวที่ขนเข้ามาเหล่านี้ กระทำการโดยผิดกฎหมาย เพราะมีสถิติการจับกุมมาโดยตลอด และปีนี้จับได้ในจำนวนครั้งที่มากขึ้น โดยเฉพาะแค่ 5 เดือนแรก จับได้แล้วมากกว่า 14,000 กิโลกรัม มากกว่าปีที่แล้วทั้งปี ที่จับได้ประมาณ 6,000 กิโลกรัม และปี 2553 จับได้ 12,000 กิโลกรัม

น.อ.สุทัศน์ อิ่มอุไร ผู้บังคับการ นรข.เขตอุบลราชธานี ยังยอมรับว่า ไม่สามารถใช้อ้างอิงหรือคำนวนหาปริมาณข้าวที่ขนเข้ามาในประเทศไทยได้ เพราะการจับกุมแต่ละครั้งจะจับเรือขนข้าวขนาดเล็กได้ครั้งละ 1 ลำเท่านั้น แต่ผลจากการสอบสวนผู้ต้องหาได้ข้อมูลยืนยันว่า ขบวนการนี้เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว

ขณะที่ชาวนาใน จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ในโครงการรับจำนำข้าว มีความต้องการข้าวราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านจริง เพื่อนำไปเข้าโครงการจำนำกับรัฐบาลในราคาสูง โดยใช้สิทธิการรับจำนำแทนโควต้าของชาวนาที่มีข้าวเข้าโครงการไม่เต็มโควต้าที่แจ้งไว้ในทะเบียน  นอกจากนี้จากการลงพื้นที่ยังพบคำยืนยันมากมายที่เกี่ยวกับประเด็นการสวมสิทธิ์เกษตรกรเพื่อนำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำ จากทั้งชาวนา ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่สะดวกจะเปิดเผยตัว

เมื่อตั้งคำถามถึงช่องโหว่ของโครงการรับจำนำ ปัญหานี้เกิดขึ้นมากเนื่องจากการตั้งราคารับจำนำไว้ในราคาที่สูงกว่าตลาดมาก ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (25 พ.ค.) ทีมข่าวไทยพีบีเอสจะนำมาอธิบายให้เห็นปัญหาในเชิงระบบ พร้อมด้วยกรณีปัญหาที่ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการยังไม่ได้รับใบประทวนจนมีการสืบสวนขยายผลด้วย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง