ภาพดาวเทียมพบมวลน้ำปริมาณมาก จ.สุโขทัย

ภูมิภาค
16 มิ.ย. 55
07:20
34
Logo Thai PBS
ภาพดาวเทียมพบมวลน้ำปริมาณมาก จ.สุโขทัย

เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานในจังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์เร่งเตรียมความพร้อมในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำเหนือ ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียมของกระทรวงวิทยาศาสตร์ พบว่ามีมวลน้ำค้างทุ่งในจังหวัดสุโขทัย กำลังไหลสู่แม่น้ำยม

ชาวนาบ้านตะแบกงาม ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ยังคงเร่งเก็บเกี่ยวข้าวตามคำเตือนของชลประทานจังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากน้ำในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยไหลข้ามทุ่งเข้ามาในพื้นที่แล้ว ล่าสุดสถานีตรวจวัดข้อมูลอุทกวิทยา สถานีวาย 16 ตำบลบางระกำ ระดับน้ำยังทรงตัวอยู่ที่ 6 เมตร 40 เซนติเมตร

สอดคล้องกับการวิเคราะห์โดยประมาณ จากภาพถ่ายดาวเทียมดาราศาสตร์ 2 ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าในเขตจังหวัดสุโขทัย มีน้ำค้างทุ่งเป็นบริเวณกว้าง และเมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมที่บันทึกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พบว่ามวลน้ำค้างทุ่ง มีทิศทางการไหลสู่แม่น้ำยมอย่างช้าๆ

ส่วนที่จังหวัดพิจิตร เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลสามง่าม เฝ้าติดตามระดับน้ำในแม่น้ำยม ที่บริเวณจุดวัดน้ำภายในตลาดสามง่าม หลังน้ำเหนือที่ไหลบ่ามาจากจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก เริ่มไหลเข้าท่วมบ้านประมาณ 60 หลัง ในตำบลรังนกซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ล่าสุด ระดับน้ำเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาวัดได้ 4 เมตร 26 เซนติเมตร ยังต่ำกว่าจุดวิกฤติอยู่ 1 เมตร 30 เซนติเมตร

ด้านเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าไม้นำเครื่องจักรเข้าขุดลอกคลอง ในพื้นที่หมู่บ้านคลองนา ที่เชื่อมต่อระหว่างตำบลท่าไม้ และตำบลบางเคียน อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวกหากมีน้ำเหนือที่ไหลมาตามแม่น้ำยม และแม่น้ำน่านไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ซึ่งยังมีข้าวรอการเก็บเกี่ยวอีกนับหมื่นไร่

ส่วนชาวบ้านในตำบลท่าชี อำเภอบ้านนาสาร ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี กว่า 20 หลัง ที่อยู่พื้นที่ลุ่มยังคงถูกน้ำท่วมขังมานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว แม้ระดับน้ำจะลดลง ชาวบ้านยังคงเดือดร้อนไม่สามารถทำสวนยางพาราได้ นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยงของชาวบ้านก็ประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร

เช่นเดียวกับที่จังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ นำรถแบ็กโฮขุดลอกคูคลองสายย่อยเพื่อให้ระบายน้ำได้สะดวก ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่เคยเกิดขึ้นทุกปี โดยจะเร่งดำเนินการให้เสร็จก่อนสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเตรียมรับมือฝนตกหนัก และอาจจะเกิดน้ำท่วมขึ้นอีก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง