นักวิชาการด้านภัยพิบัติ เผย ปีนี้ไทยยังเสี่ยงน้ำท่วม

สังคม
19 มิ.ย. 55
14:25
8
Logo Thai PBS
นักวิชาการด้านภัยพิบัติ เผย ปีนี้ไทยยังเสี่ยงน้ำท่วม

ในการสัมมนาน้ำท่วมแผ่นดินไหว ภัยแล้ง ประเทศไทยก้าวพ้นภัยพิบัติ นักวิชาการด้านภัยพิบัติวิเคราะห์ตรงกันว่า ปีนี้ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงน้ำท่วมอยู่ แต่สถานการณ์ฝนตกหนักน่าจะรุนแรงน้อยกว่าปีที่

ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาภัยพิบัติฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความกังวลว่า แม้ปีนี้ (2555) ปรากฏการณ์ลานิญ่า ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักและวิกฤตน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว (2554) จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปีนี้ (2555) แล้ว แต่จากสถิติพบว่า ปีหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ มักจะเกิดพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง และจะก่อให้เกิดเหตุน้ำท่วมในภาคกลางได้อีก ขณะนี้มีพายุเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว 4 ลูก พายุไต้ฝุ่นลูกที่ 3 ชื่อ พายุไต้ฝุ่น "กูโชล" กำลังพัดเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในขณะนี้

ส่วนลูกที่ 4 ชื่อ พายุโซนร้อน "ตาลิม" กำลังก่อตัวขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น คาดว่าจะเคลื่อนตัวไปที่เกาะไต้หวัน ซึ่งจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ส่วนช่วงเวลาที่พายุมักจะพัดเข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศไทย คือ เดือนสิงหาคม หรือ กันยายน ขณะที่ระบบการป้องกันน้ำท่วมในภาคกลางอาจมีปัญหาถ้าถูกพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มโดยตรง

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร หรือ สสนก. กล่าวว่า ปีนี้ (2555) จะมีการจัดการจราจรน้ำที่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว (2554)  เพราะมีการใช้ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์มาช่วยแก้ปัญหามากขึ้น แต่สถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มขึ้นในภาคเหนือตอนล่าง และภาคใต้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว นายรอยลคาดการณ์จากแบบจำลองของสถาบันฯว่า ฝนจะเบาบางลงนับตั้งแต่วันนี้ (19 มิ.ย.) จึงจะยังไม่เกิดน้ำท่วมซ้ำบริเวณจังหวัดแพร่ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก อีกในระยะนี้

ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยในช่วงวันที่ 19- 20 มิ.ย.นี้ ภาคเหนือจะมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ จังหงวัดตาก และ จังหวัดกำแพงเพชร

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ สบอช. ระบุว่า ปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันน้อยกว่าปีที่แล้วเพียงร้อยละ 13 ส่วนน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมดยังเหลือพื้นที่เก็บน้ำได้อีกร้อยละ 53 ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง