"ธราวุธ นพจินดา" ผู้บรรยายกีฬาชื่อดังเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว

กีฬา
20 มิ.ย. 55
02:31
148
Logo Thai PBS
"ธราวุธ นพจินดา"  ผู้บรรยายกีฬาชื่อดังเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว

เมื่อคืนที่ผ่านมา ธราวุธ นพจินดา หรือน้องหนู ผู้บรรยายกีฬา และคอลัมนิสต์ชื่อดัง น้องชายของ "ย.โย่ง" เอกชัย นพจินดา เสียชีวิตแล้วด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ระหว่างนำตัวมารักษาที่โรงพยาบาลวิภาวดี หลังไปทำหน้าที่พิธีกรที่สนามกอล์ฟย่านมีนบุรี

ภรรยา ลูก และเพื่อนสนิทของนายธราวุธ นพจินดา หรือน้องหนู ผู้ประกาศข่าวกีฬาทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และคอลัมนิสต์ชื่อดังได้เดินทางมายังโรงพยาบาลวิภาวดี เพื่อไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย หลังแพทย์ระบุว่า นายธราวุธเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ระหว่างนำตัวมาส่งที่โรงพยาบาล

นายพีระพงษ์ กุวังคดิลก คนสนิท และเป็นคนที่ช่วยเหลือนำตัวนายธราวุธ ส่งโรงพยาบาล กล่าวว่า ประมาณ 19.00 น. หลังจากเสร็จจากงานพิธีกรในการแข่งขันกอล์ฟที่สนามกอล์ฟเพรสซิเดนท์ ย่านมีนบุรี นายธราวุธดื่มเบียร์ไป 1 กระป๋อง และถั่ว จากนั้นบอกว่าเจ็บคอ และขอตัวกลับก่อน จนเวลาประมาณ 21.00 น. พบว่านายธราวุธยังจอดรถอยู่ และมีอาการแย่มาก จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

นายชยพัฒน์ นพจินดา ลูกชายของนายธราวุธ เปิดเผยว่า นายธราวุธมีโรคประจำตัว คือ โรคหัวใจ และความดัน รวมไปถึงเมื่อปี 2550 ได้เคยมีอาการเส้นเลือดในสมองตีบ แต่ไม่เคยมีอาการรุนแรง และไม่คิดว่าจะเสียชีวิตกะทันหันแบบนี้

ในคืนนี้แพทย์จะได้ส่งศพนายธราวุธไปสถาบันนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อตรวจพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนที่ทางญาติจะรับศพไปตั้งบำเพ็ญกุศล ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

สำหรับนายธราวุธเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬาทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และเป็นคอลัมน์นิสต์ชื่อดัง และเป็นน้องชายของนายเอกชัย นพจินดา หรือ ย.โย่ง ซึ่งเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเหมือนกัน โดยเสียชีวิตขณะเล่นเทนนิสเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2540 มีอายุแค่ 44 ปี ซึ่งทั้ง 2 พี่น้องก็เสียชีวิตด้วยโรคเดียวกัน

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า โรคหัวใจเป็น 1 ใน 3 โรค ที่คนไทยมีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด ที่สำคัญได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง ในปี 2545 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจ และหลอดเลือดกว่า 30,000 คน และเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนกว่า 40,000 คน ในปี 2546 และมีแนวโน้มผู้ป่วยโรคหัวใจ และหลอดเลือดจะมีอายุน้อยลง

สาเหตุเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตประจำวัน พฤติกรรมการรับประทานอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันเป็นชีวิตสังคมเมืองมากขึ้น เช่น ขาดการออกกำลังกาย มีชีวิตนั่งๆ นอนๆ และมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง รวมทั้งปัญหาการบริโภคเกิน รับประทานผัก และผลไม้ในปริมาณที่ไม่เพียงพอนำไปสู่การเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดมากขึ้นด้วย
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง