“เกษตรพันธสัญญา” กลไกเกษตรกรที่ต้องสร้างความยุติธรรม

สิ่งแวดล้อม
24 มิ.ย. 55
04:35
35
Logo Thai PBS
“เกษตรพันธสัญญา” กลไกเกษตรกรที่ต้องสร้างความยุติธรรม

คณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาที่ประกอบด้วยนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชาวบ้าน และผู้ได้รับผลกระทบจากระบบเกษตรพันธสัญญาได้ร่วมกันแถลงในการจัดสัมมนาทางวิชาการเกษตรพันธสัญญาประจำปี 2555 “เกษตรพันธสัญญา ใครอิ่ม ใครอด?” 26-27 มิ.ย ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

 นายอุบล  อยู่หว้า  ผู้ประสานงานคณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาได้แถลงว่า ระบบเกษตรพันธสัญญา คือ การชักชวนให้เกษตรกรรายย่อยเข้าร่วมทำการผลิตโดยมีข้อผูกพันกับบริษัท ผู้ประกอบการได้ใช้ระบบนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการลงทุนที่ครอบคลุมหลายสาขาการผลิตทางการเกษตร นับตั้งแต่การเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกผัก เลี้ยงปลา เป็นต้น  ระบบการผลิตดังกล่าว ถูกนำเสนอผ่านการรับรู้ของสาธารณะ ในฐานะเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การแก้ปัญหาตลาดสินค้าการเกษตรกรของประเทศ ไปจนถึงการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร โดยได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งระบบดังกล่าวมีการขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง  

แต่ในความเป็นจริงไม่ได้มีกลไกภาครัฐ กฎหมายและนโยบายที่จะกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรที่เข้าร่วมการผลิตในระบบนี้ ขณะเดียวกันภาคสาธารณะและสังคมก็ไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ของระบบการผลิตนี้  ทั้งในด้านความปลอดภัยในตัวของผลผลิต ขบวนการผลิตทำลายสภาพแวดล้อมหรือไม่ ระบบการผลิตนี้มีการเอารัดเอาเปรียบผู้ผลิตหรือไม่ ผลผลิตที่ได้มีหลักประกันความปลอดภัยของผู้บริโภคหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้   ล้วนแต่ยังต้องการการทำความจริงให้เกิดความประจักษ์ในทุกแง่มุม อย่างรอบด้าน ทั้งประสิทธิภาพในการผลิต ความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคและเกษตรกร ขณะที่การผลิตในระบบพันธะสัญญาครอบครองสัดส่วนของผลผลิตอาหารที่ตอบสนองการบริโภคของประชาชนในสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ  ระบบห่วงโซ่อาหารของสังคม ถูกรวมศูนย์ภายใต้การผลิตของบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ ขณะที่ข้อเท็จจริงของการผลิตยังพร่ามัวจาการรับรู้ของสังคม   

 
คณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ที่ประกอบด้วย เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย  เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน มูลนิธิชีววิถี สถาบันชุมชนเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะรัฐศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน  สสส. จึงได้จัดให้มีการจัดสัมมนาทางวิชาการเกษตรพันธสัญญาประจำปี 2555    “เกษตรพันธสัญญา  ใครอิ่ม  ใครอด?”  ในวันที่  26-27  มิถุนายน  2555 ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์  อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี  คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ในการสัมมนาดังกล่าวจะระดมการศึกษาจากแง่มุมทางวิชาการ  ทั้งทางด้านกฎหมายและผลกระทบเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม และข้อเท็จจริงจากวิถีชีวิตของเกษตรกร  ที่เกิดภายใต้ระบบการผลิตแบบพันธสัญญา เพื่อนำเสนอสู่การรับรู้ของสาธารณะและร่วมกันขบคิด และการแสวงหาทางออกร่วมกันในอนาคต และมีข้อเสนอระดับปฏิบัติและนโยบายเพื่อการสร้างระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม ที่เหมาะสมและการอยู่ร่วมกัน  
 
ขณะที่  นายไพสิฐ  พานิชย์กุล  นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนจากคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้แถลงว่า จากการวิจัยของนักวิชาการพบว่า ระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นการลงทุนโดยไม่ลงทุน  แต่ที่ผ่านมาสังคมไม่ได้มีการพูดถึงความไม่เป็นธรรมภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา   อีกทั้งยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบในระยะยาวโดยเฉพาะการผลิตแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในแง่ความมั่นคงทางด้านอาหาร  ขณะที่รัฐเองก็ไม่ได้เข้ามาดูแลเรื่องกลไกในการคุ้มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่าที่ควร  
 
 เครือข่ายเกษตรพันธสัญญาจึงจัดสัมมนา เพื่อจะเสนอต้องสร้างกลไกเชิงสถาบันภายในระดับพื้นที่  การทำให้เกษตรกรเข้าถึงระบบการเกษตรที่ดี   และการทำให้เกิดยุติธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม  ผู้บริโภค  และตัวเกษตรกร สามารถบริหารควบคุมให้เป็นไปสัญญาบนฐานข้อมูลที่เป็นธรรม  การแทรกแซงกลไกตลาดในกรณีที่เกิดการผูกขาดจากธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร  
 
ที่สำคัญจำเป็นต้องพัฒนาระบบ  “ยุติธรรมชุมชน”  มาปรับใช้ในระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่จะมีการหารือร่วมกันในการจัดสัมมนาดังกล่าว เนื่องจากเป็นประเด็นที่จะนำไปสู่ทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมจากระบบเกษตรพันธสัญญา
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง