เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา เสนอออกกฏหมายคุ้มครองสิทธิเกษตรกร

สิ่งแวดล้อม
26 มิ.ย. 55
14:07
15
Logo Thai PBS
เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา เสนอออกกฏหมายคุ้มครองสิทธิเกษตรกร

เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา เสนอให้ภาครัฐออกกฏหมายคุ้มครองสิทธิให้กับเกษตรกรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการเข้าร่วมลงทุนระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อเป็นหลักประกันให้กับเกษตรกร และส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม เพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองกับผู้ประกอบการ ขณะที่ตัวแทนผู้ประกอบการ เห็นด้วยหากจะให้ภาครัฐเข้ามาควบคุมดูแล

ในเวทีสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 หัวข้อ " เกษตรพันธสัญญา ใครอิ่ม ใครอด " จัดโดยคณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ซึ่งมีตัวแทนภาคเกษตรกร ผู้ประกอบการบริษัท และนักวิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านกฏหมาย ผลกระทบเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม และข้อเท็จจริงจากวิถีชีวิตของเกษตรกร ภายใต้ระบบการผลิตแบบเกษตรพันธสัญญา

นักวิชาการ ส่วนใหญ่มองว่า ระบบเกษตรพันธสัญญา สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เข้าร่วมลงทุนโดยขาดความรู้เกี่ยวกับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของบริษัท นอกจากนี้ เกษตรกรไม่สามารถตรวจสอบสัญญาก่อนได้ ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม และเป็นเครื่องมือขูดรีดเกษตรกร จากพฤติกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมาของบริษัท

ขณะที่ เงื่อนไขของบริษัทบางประเด็น เป็นการทุจริตเชิงนโยบายที่บริษัทนำมาแทรกแซง และ หากมองโครงสร้างกฏหมายที่มีอยู่ พบว่า กลไกทางกฏหมายและการบังคับคดี จะเป็นประโยชน์เจ้าหนี้อย่างเต็มที่ โดยผลักภาระให้เกษตรกรเพียงฝ่ายเดียว

นักวิชาการยังเสนอให้ภาครัฐออกกฏหมายคุ้มครองสิทธิให้กับเกษตรกรที่เข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา และกฏหมายส่งเสริมและพัฒนาสถาบันเกษตรกร เพื่อเป็นหลักประกันและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น และส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อมีอำนาจต่อรองกับบริษัทได้

ทั้งนี้ตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมการผลิตในระบบพันธสัญญา บอกว่า แรงจูงใจการเข้าถึงสินเชื่อธนาคาร ผ่านการออกจดหมายรับรองของบริษัท เพื่อนำเงินก้อนมาลงทุน และการมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ทำให้เกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการฯ แต่เมื่อเข้าไปแล้ว พบว่าไม่มีกฎหมายดูแล จึงเรียกร้องให้ภาครัฐ แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการศึกษา ตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

นายณรงค์ เจียมใจบรรจง ตัวแทนบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด ยืนยันว่าระบบเกษตรพันธสัญญา เป็นระบบที่ดี มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค แต่เงื่อนไขและกฏกติกา มองว่าเป็นสิ่งที่บริษัทต้องรับผิดชอบให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรด้วย นอกจากนี้ เห็นด้วย หากภาครัฐจะเข้ามาควบคุม หรือ นำกฏหมายเข้ามาบังคับใช้ในระบบเกษตรพันธสัญญา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง