เกษตรกรเสนอตั้งคณะทำงานเพื่อเยียวยาผู้ดีรับผลกระทบจากระบบเกษตรพันธสัญญา

ภูมิภาค
27 มิ.ย. 55
07:18
7
Logo Thai PBS
เกษตรกรเสนอตั้งคณะทำงานเพื่อเยียวยาผู้ดีรับผลกระทบจากระบบเกษตรพันธสัญญา

เครือข่ายเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากระบบเกษตรพันธสัญญา ยื่นข้อเสนอแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสำรวจและขึ้นทะเบียนผู้ได้รับผลกระทบที่จะต้องได้รับการเยียวยาภายใน 3 เดือน เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนจากความไม่เป็นธรรม และหนี้สิน หลังมีข้อมูลชี้ว่าเกษตรพันธสัญญา ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง และยังกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร และคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภคอีกด้วย

ตัวแทนเกษตรกรพันธสัญญา ที่ได้รับผลกระทบจากระบบเกษตรพันธสัญญา ยื่นข้อเสนอนโยบายสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร และผู้บริโภค ผ่านเวทีการเสวนา นโยบายสู่การปฏิบัติ โดยขอให้คณะอนุกรรมการด้านการเกษตรพันธสัญญาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 ลงนามโดย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสำรวจ และขึ้นทะเบียนผู้ได้รับผลกระทบที่จะต้องได้รับการเยียวยาภายใน 3 เดือน และขอให้แต่งตั้งคณะทำงานกลาง เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนจากความไม่เป็นธรรม และหนี้สิน รวมทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นการเฉพาะเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และดำเนินการช่วยเหลือ และเยียวยาภายใน 1 เดือน หลังสำรวจ และขึ้นทะเบียนแล้วเสร็จ

นายอภิชาติ พงษ์ศรีอดุลชัย ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์การเกษตร รับปากว่า จะนำข้อเสนอไปดำเนินการอย่างเร่งด่วน ขณะนี้คณะกรรมการดังกล่าว มีการจัดตั้งเสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีการประชุมเพื่อพิจารณารายละเอียด เนื่องจากยังขาดเอกสารบางส่วนที่ทำให้ไม่ครบสมบูรณ์ พร้อมกันนี้ยอมรับว่า หนี้สินของเกษตรกร เกิดจากหลายกรณี แต่เฉพาะกรณีเกษตรกรระบบพันธสัญญา ยังไม่มีการแยกไว้ จึงเห็นว่าข้อเสนอนี้เป็นเรื่องดี ที่จะมีการพิจารณาแก้ไขให้ แต่การดำเนินการนั้่นต้องใช้เวลา

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ยอมรับว่า ระบบเศรษฐกิจเสรี ทำให้มีทั้งผู้เสียเปรียบ และได้เปรียบ พร้อมกันนี้ยังเห็นใจเกษตรกรที่เข้ามาสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา แต่ต้องแยกประเด็นมองทั้งสองด้านทั้่งผู้ได้เปรียบ และเสียเปรียบ อย่างไรก็ตามเห็นว่าเรื่องนี้รัฐบาลต้องเข้ามาเป็นคนกลาง เพื่อทำให้ทุกฝ่ายมีความเสมอภาคกัน และรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาเห็นเกษตรกรถูกฟ้องร้องจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกิดจากข้อเสียเปรียบทางกฎหมาย ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ โดยส่วนตัวเคยเสนอให้หน่วยงานกลาง ที่ดูแลด้านกฎหมาย และความยุติธรรม เช่น ดีเอสไอ สภาทนายความ หรือ อัยการ เข้ามาเป็นคนกลาง เกี่ยวกับการสำคัญของเกษตรกรเพื่อไม่ให้ถูกบริษัทเอาเปรียบ

เภสัชกรหญิงสำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา บอกว่าระบบเกษตรพันธสัญญา มีเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายประการ นอกจากส่งผลต่อเกษตรกรแล้ว ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร และคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค นอกจากนี้่ยังสร้างความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากกลไกภาครัฐ กฎหมาย และนโยบายที่จะกำกับดูแล ให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรที่เข้าร่วมการผลิตในระบบนี้ จึงเห็นว่า หากระบบเกษตรพันธสัญญามีความสำคัญ ก็ควรที่จะเลือกวิธีดำเนินการให้เหมาะสมกับประเภทของการทำการเกษตร รวมทั้งหามาตรการด้านสังคม และกฎหมาย เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร ลดการเอารัดเอาเปรียบ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง