นิทรรศการ "กินของเน่า" สะท้อนภูมิปัญญาการถนอมอาหาร - ปรุงรส

Logo Thai PBS
นิทรรศการ "กินของเน่า" สะท้อนภูมิปัญญาการถนอมอาหาร - ปรุงรส

หากได้ยินคำว่าเรากินของเน่ากันอยู่ทุกวัน หลายคนคงประหลาดใจ แต่ของที่ "เน่าเกินเน่า" นั้นกินได้จริง พิสูจน์แล้วด้วยการทดลองของคนโบราณ เช่นการทำปลาส้ม ปลาร้า กะปิ น้ำปลา ผักดอง ซึ่งภูมิปัญญาในการถนอมอาหาร และการปรุงรส คือศาสตร์ศิลป์เฉพาะถิ่นที่น่าสนใจ นำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ "กินของเน่า"

แกงเขียวหวานที่มีกะปิเป็นเครื่องแกง แกงฮังเล ใช้ถั่วเน่าเป็นเครื่องปรุงรส หรือแม้แต่ขนมจีนน้ำยาป่า มีปลาร้าเป็นส่วนผสม บอกเล่าผ่านวิดีโอสาธิต รวมถึงผักดองวิธีถนอมอาหารที่เข้ามาสยามพร้อมกับคนจีน ภูมิปัญญาการถนอมอาหารที่มำให้เป็นของเน่า เพื่อเก็บอาหารส่วนหนึ่งไว้กินยามขาดแคลน รวบรวมความรู้จัดแสดงในนิทรรศการกินของเน่า ให้ความรู้มากกว่ารสอาหาร แต่ยังสืบค้นที่มาซึ่งมีการพัฒนามาอย่างยาวนาน 

ในนิทรรศการการ "กินของเน่า" ได้จัดส่วนหนึ่งเป็นห้องครัว เพื่อแสดงของเน่าที่เราทานกันอยู่ในชีวิตประจำวันอย่าเช่น เต้าเจี้ยว น้ำปลา และกะปิ เครื่องปรุงเหล่านี้ สะท้อนภูมิปัญญาของคนในอดีต ที่รู้จักนำเอาทรัพยาการใกล้ตัวมาถนอมอาหารโดยการใช้เกลือ และปลา

ปลาร้า ไม่ได้เป็นอาหารเฉพาะถิ่นภาคอีสานของไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นอาหารคุ้นลิ้นของคนในอุษาคเนย์ ที่ล้วนมีส่วนผสมจากวัตถุดิบธรรมชาติที่คล้ายกัน คือ ข้าว ปลา เกลือ ต่างกันที่วิธีการ และชื่อเรียกแตกต่าง กัมพูชา เรียก "ปราฮ็อก" ลาวเรียก "ปลาแดก" "บากุง" ของ ฟิลิปปินส์  ส่วนเวียดนาม เรียก"มาม" เหล่านี้แสดงถึงทรัพยากรอันอุดมในดินแดนแถบนี้เป็นที่มาของภูมิปัญญาการถนอมอาหาร ซึ่งล้วนมีเอกลักษณ์ในแต่ละแห่งทั่วโลก

ชาอัน เซติ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ กล่าวว่า ความรู้เรื่องการถนอมอาหารที่ได้รับจากนิทรรศการ ทำให้เห็นวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งรูปแบบที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมได้ น่าสนใจและเหมาะสำหรับการเรียนรู้ของครอบครัว 

วัฒนธรรมการกินของเน่าที่สืบทอดมากว่า 3,000 ปี นำมาจัดแสดงเพื่อสร้างความเข้าใจในที่มาของประวัติศาสตร์อาหาร ในบรรยากาศตลาดสด และร้านอาหาร โดยจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ นิทรรศการ "กินของเน่า" จัดแสดงที่มิวเซียมสยาม ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง