ผลสำรวจชี้แรงงานไทยหนี้พุ่ง

เศรษฐกิจ
1 พ.ค. 58
03:08
166
Logo Thai PBS
ผลสำรวจชี้แรงงานไทยหนี้พุ่ง

วันแรงงานปีนี้นอกจากความเคลื่อนไหวและความหวังของผู้ใช้แรงงานที่ต้องการให้รัฐปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ตัวเลขหนึ่งเชื่อว่าผู้ใช้แรงงานต้องการให้ลดลง คือ ภาระหนี้สิน ถ้าดูผลสำรวจตลอดหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้ใช้แรงงานไทยมีหนี้สูงขึ้น ล่าสุด พบว่ามีหนี้สูงกว่าร้อยละ 94 สะท้อนปัญหาสถานภาพทางการเงินของผู้ใช้แรงงาน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจแรงงานไทยจากกลุ่มตัวอย่างเมื่อต้นเดือนเมษายน 2558 พบว่าครัวเรือนของไทยเฉลี่ย 3-4 คน มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน มีสัดส่วนถึงร้อยละ 13.3, รายได้ 15,000-30,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน มีสัดส่วนร้อยละ 55
 
ขณะที่รายจ่ายต่ำกว่า 15,000-30,000 บาทต่อเดือน มีสัดส่วนถึงร้อยละ 61.9 ทำให้มีเงินออมเพียงเล็กน้อย และแรงงานไทยส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินถึงร้อยละ 94.1 คิดเป็นหนี้สินต่อครัวเรือน 117,839 บาท โดยเป็นหนี้ในระบบร้อยละ 40.4 และเงินกู้นอกระบบร้อยละ 59.6
 
ผลสำรวจยังระบุว่าแรงงาน ร้อยละ 31 กู้เงินไปใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนอีกร้อยละ 19.8 นำไปใช้หนี้เงินกู้ โดยแรงงานร้อยละ 69.9 ยังมีความกังวลเรื่องเงินชำระหนี้ไม่เพียงพอ และมียอดการออมเพียงร้อยละ 21.8 ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 6 ปีที่มีการสำรวจ
 
ทั้งนี้ แรงงานส่วนใหญ่เรียกร้องรัฐบาลช่วยเหลือภาระหนี้สิน และปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 398 บาทต่อวัน และอีก 3 ปีข้างหน้าขอปรับเพิ่มเป็น 491 บาทต่อวัน และเห็นว่าเมื่อกระทรวงการคลังเดินหน้าโครงการนาโนไฟแนนซ์จะช่วยเหลือภาระหนี้นอกระบบได้มากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง