1 ปีรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" กับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้

5 ก.ย. 55
14:25
427
Logo Thai PBS
1 ปีรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" กับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้

การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เห็นว่า นโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการเมืองนำการทหาร แต่ก็ยังมีช่องว่างในความเป็นเอกภาพที่นำไปสู่นโยบายการปฎิบัติ ขณะที่ภาคประชาสังคมมองรัฐบาล เน้นการใช้เงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพียงอย่างเดียว แต่ยังขาดแผนภาคปฎิบัติ เพื่อแก้ปัญหาที่แท้จริง โดยเฉพาะความยุติธรรมหลายกรณีที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

<"">
<"">

การประชุมร่วมกับฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างเดินทางลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาสในวันนี้ นอกเหนือจากการรับทราบสถานการณ์ความไม่สงบที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งเพื่อหาทางทบทวนนโยบายแก้ปัญหาหลังผ่านการทำงานมาแล้ว 1 ปี ซึ่งเสียงเรียกร้องให้แก้ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตยังดังก้องจากประชาชนในพื้นที่

แม้เหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะยังเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วง 1 ปี ภายใต้การบริหารของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมศรีย์ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์ เห็นว่า นโยบายแก้ปัญหาความไม่สงบของรัฐบาลชุดนี้เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะนโยบายการเมืองนำการทหาร แต่ยังมีช่วงว่างในเรื่องความเป็นเอกภาพของการนำนโยบายไปปฎิบัติ

การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่สำคัญเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบของรัฐบาลชุดนี้ คือการที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.ออกนโยบายการบริหารและการพัฒนาเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี พ.ศ. 2555-2557 ซึ่งใจความสำคัญที่ กำหนดให้มีการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยหาทางออก จนนำไปสู่การที่ ศอ.บต. ได้เปิดเวทีการพูดคุยเจรจากับฝ่ายต่างๆ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเพื่อนำไปสู่สันติภาพในภาคใต้ และทันทีที่ฝ่ายขบวนการจับสัญญาณได้ว่าเริ่มถูกรุกด้วยนโยบายทางการเมืองจึงใช้มาตรการทางการทหารตอบโต้โดยก่อเหตุรุนแรงถี่ขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ตัวแทนภาคประชาสังคมมองว่า รัฐเน้นการใช้เงินเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพียงอย่างเดียว โดยยังขาดแผนภาคปฎิบัติเพื่อแก้ปัญหาที่แท้จริง โดยเฉพาะปัญหาความยุติธรรมซึ่งในหลายกรณียังไม่ได้รับการแก้ไข

ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ย้ำว่า ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริงคือการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นให้เข้ากับอัตลักษณ์ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่ใช่การแบ่งแยกดิน ซึ่งถือเป็นข้อเรียกร้องดั้งเดิมที่อยู่กับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มายาวนาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง