วัดอรุณฯจัดพิธีบวงสรวงพระปรางค์ก่อนดำเนินการบูรณะ

Logo Thai PBS
วัดอรุณฯจัดพิธีบวงสรวงพระปรางค์ก่อนดำเนินการบูรณะ

หลังสำรวจประติมากรรมพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่เสื่อมสภาพหักหายไปเมื่อเดือนกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการสรุปแผนงานบูรณะด้วยวิธีการอนุรักษ์ตามแบบโบราณ จัดพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มดำเนินการ พร้อมวางแนวทางติดตั้งเครื่องวัดความสั่นสะเทือนที่อาจส่งผลต่อโบราณสถาน เนื่องจากองค์พระปรางค์มีความเก่าแก่ และสูงกว่า 80 เมตร

จัดพิธีบวงสรวงพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นปฐมฤกษ์ก่อนเริ่มงานบูรณะประติมากรรมประดับพระปรางค์ที่ชำรุดเสียหาย โดยมีเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร นายช่างกลุ่มงานอนุรักษ์จิตรกรรมร่วมพิธีเพื่อความเป็นมงคล ถือเป็นการบวงสรวงซ่อมแซมในรอบ 15 ปี หลังประติมากรรมคอม้าประดับยอดพระปรางค์บริวารด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนืออายุกว่า 100 ปี ถูกแรงลมฝนชะปูนปิดเชื่อมส่วนคอกับหัวม้าที่ทำจากดินเผาจนผุกร่อน และหักร่วงลงมาเมื่อเกือบ 1 เดือนที่แล้ว
 
หลังสร้างนั่งร้านความสูงกว่า 20 เมตร เพื่อสำรวจอย่างละเอียด เตรียมเริ่มงานซ่อมแซม ทำให้พบความเสียหายเพิ่มเติม เช่น ใบหน้าเทวดาทรงม้าแตกหักเกือบทั้งชิ้น และคอม้าหักหายไป 2 ชิ้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการปั้นเสริมด้วยปูนหมักแบบโบราณเพื่อความคงทน และเขียนสีแต่งลาย มีประติมากรรมที่อยู่ใกล้เคียงเป็นต้นแบบ พร้อมตรวจสอบประติมากรรมที่เหลือทั้ง 4 ทิศ เพื่อเสริมความแข็งแรงส่วนที่เสี่ยงชำรุด ใช้เวลาราว 60 วัน  
 
สุวิช ชมชื่น หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กล่าวว่า การซ่อมแซมจะมีการเชื่อมด้วยเหล็กแสตนเลสด้านใน เสริมโครงสร้างให้แข็งแรง โดยปั้นเสริมจากด้านบนเชื่อมกับประติมากรรมเก่า
 
ธราพงษ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวว่า การใช้วิธีการอนุรักษ์แบบเดิม ใช้วัสดุเป็นปูนโบราณ เพราะมีความคงทน ปูนซีเมนต์จะมีเคมีทำลายตัวโบราณสถาน  
 
เนื่องจากประติมากรรมที่มีความชำรุดเสียหายนั้นอยู่สูง ทำให้มีการติดตั้งนั่งร้านขึ้นไปทำการบูรณะ โดยกันพื้นที่ไว้ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดกับนักท่องเที่ยวได้ ระหว่างนี้ยังวางแนวทางในการติดตั้งเครื่องตรวจวัดความสั่นสะเทือนจากรถ และเรือรอบวัดอรุณฯที่อาจส่งผลต่อตัวโบราณสถานได้
 
การตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าพื้นผิวพระปรางค์มีรอยแตกร้าวบางจุด ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของวัสดุ เนื่องจากเป็นโบราณสถานริมน้ำ กลางแจ้ง ที่สร้างมากกว่า 160 ปี การติดตั้งเครื่องตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนจากรถยนต์ และการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนหน้านี้ แม้ยังไม่มีผลกระทบโดยตรง แต่เนื่องจากโบราณสถานมีขนาดใหญ่ ความสูงกว่า 80 เมตร ทั้งยังเป็นพระปรางค์สำคัญ ที่ถอดแบบมาจากพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม อยุธยา จึงเตรียมเสนอการติดตั้งเครื่องตรวจวัดความสั่นสะเทือนถาวร และเครื่องตรวจวัดความลาดเอียง เพื่อเฝ้าระวังผลจากคลื่นน้ำเจ้าพระยา ที่อาจทำให้เกิดปัญหาดินสไลด์ 
 
เอนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ติดตั้งวัด 24 ชั่วโมงไม่มีปัญหา แต่เป็นโบราณสถานเก่า ก็ยังต้องเสนอแผนงานติดตั้งถาวร อยู่ระหว่างให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ศึกษาเพราะเป็นโบราณสถานเก่า มีผลจากการสั่นสะเทือนสะสม
 
สุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า มีการใช้งบเหลือจ่ายของกระทรวงวัฒนฯ แต่จากการสำรวจทำให้พบความเสียหายมากกว่าที่คาดการณ์ หากงบก้อนแรกไม่พอก็อาจต้องเบิกจากกองทุนบูรณะโบราณสถานที่ได้รับบริจาคจากประชาชนมาช่วย
 
ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พระปรางค์วัดอรุณฯได้รับการบูรณะมาไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ทั้งการบูรณะใหญ่ และการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดทรุดโทรม ขณะที่การล้างทำความสะอาดคราบหมองเต็มองค์ต้องใช้เวลานาน ส่งผลต่อการท่องเที่ยว จึงทิ้งช่วงเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี ครั้งนี้จะเริ่มบูรณะทันที ด้วยงบประมาณ 500,000 บาท แต่ยังคงเปิดให้เที่ยวชมได้ตามปกติ เว้นเฉพาะส่วนพื้นที่รอบบริเวณที่ทำการซ่อมแซมเท่านั้น ส่วนแผนงานบูรณะใหญ่ในปีงบประมาณ 2558 คาดว่าอาจต้องใช้งบไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท    


ข่าวที่เกี่ยวข้อง