เรียนรู้วิถีชีวิต"คน-ควาย"ผ่านการไถนา

Logo Thai PBS
 เรียนรู้วิถีชีวิต"คน-ควาย"ผ่านการไถนา

ทักษะมากมายเกี่ยวกับการทำนาที่ควายและคนต้องเรียนรู้ ดังนั้นเมื่อถึงช่วงเปิดเทอมใหม่ของโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ นักเรียนเกษตรกร และนักเรียนกระบือ จึงได้ร่วมพิธีไหว้ครูเพื่อเป็นมงคลกับการเริ่มต้นศึกษาที่แหล่งประสาทวิชาว่า ด้วยการเลี้ยงควาย

<"">
 
<"">

จะยึดมั่นในคำสอนของครู พร้อมนำวิชาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ คือความตั้งใจของนักเรียนเกษตรกรรุ่น 38 โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จ.สระแก้ว ที่ร่วมพิธีไหว้ครูฝึกควาย ขอขมาแม่พระธรณีและขอพรจากเทพผู้รักษาไร่นาตามความเชื่อ ทุกเดือนก่อนเริ่มการเรียนการสอน เกษตรกรที่ต้องการฝึกใช้ควายทำนาจะมาร่วมพิธีเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ฝึกหัดทั้งตนเองและควายใหม่ที่ไม่เคยไถนามาก่อน
<"">
 
<"">

นิด สมบูรณ์ ครูใหญ่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ กล่าวว่า "เป็นการสอนให้รู้จักคุณแผ่นดินแม่พระธรณีที่เราไปถากไปถางปลูกพืชอะไร ให้เป็นอาหารเรา ให้เรารู้จักคุณ คุณแผ่นดินเรา ให้ดูแลแผ่นดิน ถ้าแผ่นดินตาย หญ้าก็ไม่เกิด อะไรก็ไม่เกิด เหมือนกับว่าให้เราดูแลมัน อย่าไปทำร้ายมากนัก ให้เราดูแลประเภทนั้น เป็นกุศโลบายที่ทางโบราณได้ทำไว้

ความสนใจในวิถีพอเพียงพึ่งตนเองโดยใช้ควายทำนา ทำให้ คธา เพิ่มทรัพย์ อาจารย์พิเศษด้านดนตรี ซึงผู้จบปริญญาโทด้านวิศวกรรมจากอเมริกา เข้าร่วมฝึกทักษะบนแปลงนาทดลอง รวมถึงการฝึกควายรุ่นใหม่ให้เชื่องและสามารถไถนาได้อย่างชำนาญ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ทำให้เขาและเพื่อนร่วมรุ่นทั้ง 8 ได้เรียนรู้วิถีดั้งเดิมของชาวนาที่บางคนไม่เคยสัมผัสและบางคนห่างหายมานานหลาย 10 ปี

คธา เพิ่มทรัพย์ นักเรียนเกษตรกร  ระบุว่า "ในอนาคตอาหารซึ่งอาจจะทำให้ขาดแคลนอาหาร ทำให้ผมต้องฉุกคิดว่าผมทำไมไม่เริ่มตอนนี้เลยที่จะปลูกอะไรเป็นของตัวเองอยู่กับตัวเองพึ่งตัวเองตลอดเวลา แล้วก็ควายคือเค้าโตมากับเราตั้งแต่สมัยดึกคำบรรพ์ บรรพบุรุษเราก็ใช้ควายไถนา แล้วตอนนี้ควายก็ลดลงไปเรื่อย ๆ อีกหน่อยก็คงสูญพันธุ์ ผมเลยคิดว่าทำไม ไม่เอาเขากลับมา แล้วเป็นแบบเมื่อก่อนได้มั้ย"

ขณะที่ นักเรียนเกษตรกร อีกคนอย่าง นางสงวน พรหมนนท์ กล่าวว่า "ควายเนี่ยก็เหมือนกับคน คนบางคนก็ใจอ่อน บางคนก็ใจแข็ง มีทั้งอยากทำงานไม่อยากทำงานบ้าง ถ้าเป็นคนนะถ้าไม่อยากทำก็ไม่ทำ ซึ่งควายก็เหมือนกันซึ่งไปฝืนไม่ได้ บางครั้งยากบางครั้งง่าย ซึ่งตัวที่ง่ายสามารถฝึกได้ภายใน 2 วันก็ใช้ได้"

ดังนั้นการฝึกครั้งนี้ทั้งคนและคว่ายต่างก็เป็ฯมือใหม่ในการไถนา การเข้าไถครั้งแรกจึงสังเกตเห็นว่าควายหลายตัวจะยังไม่ชินกับการไถนา ซึ่งต้องใช้ประมาณ 4-5 วัน ผู้ที่ทำหน้าที่จูงควายด้านหน้าจะสามารถปล่อยเชือกให้ยาวขึ้นจนถึงขั้นถอด เชือก เมื่อฝึกไป 7-8 วันควายก็จะสามารถลงแปลงนาได้จริง

นอกจากฝึกใช้อุปกรณ์ให้คล่องและรู้หลักการดูแลควายด้วยอาหารและยา อีกหนึ่งบทเรียนที่สำคัญคือการฝึกภาษาเชือกเพื่อสั่งควาย โดยให้นักเรียนเกษตรกรสลับเปลี่ยนกันเป็นควายให้เพื่อนร่วมชั้นฝึกกระตุก เชือกพร้อมออกเสียงสั่งให้ถูกต้อง ซึ่งผู้ที่เล่นเป็นควายจะรู้ทันทีเมื่อเพื่อนออกคำสั่งผิด สะท้อนความผูกพัน ของชาวนาที่ต้องการเข้าถึงความรู้ของควายเลี้ยงผู้เป็นเสมือนเพื่อนร่วมงาน มิใช่ผู้รับใช้

ครูใหญ่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ยังกล่าวเสริมว่า "การฝึกนี้เรียกว่าฝึกควายให้รู้จักใช้งาน ฝึกคนให้รู้จักใช้ควาย มันเป็นยังไง ใช้ยังไง แล้วก็ต้องฝึกให้เขารู้จักรักด้วย ถ้าไม่ฝึกให้รัก บางคนก็ได้แต่ตี โดยไม่เอาใจไปรักเขา ถ้าใจเรารักเขา เราเมตตากับเขา ให้ความเชื่อมั่นว่าเราไม่ใช่คนที่จะมาทำร้ายเขา เขาก็มีความเชื่อมั่นกับเรา เขาก็จะรับฟังคำสั่งเราทุกอย่าง" 

"กาสร" แปลว่า ควาย "กสิวิทย์" หมายถึง ความรู้ด้านกสิกรรม โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จ.สระแก้ว ถือเป็นแหล่งประสาทวิชาความรู้ที่ว่าด้วยการเลี้ยงควาย รวมไปถึงการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ผสมผสาน ในโครงการมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อ อนุรักษ์การทำเกษตรแบบดั้งเดิม และการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง