นิทรรศการศิลปะ"ไทยเท่"จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์

Logo Thai PBS
นิทรรศการศิลปะ"ไทยเท่"จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์

ครบรอบ 70 ปีแห่งพัฒนาการของศิลปะไทย นิทรรศการไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์ นำผลงานศิลปะที่โดดเด่นในในสมัยรัชกาลที่ 9 กว่า 300 ชิ้น จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สะท้อนความเท่แบบไทย ที่ก้าวไกลไปสู่สากล

ผ้าขาวม้าเพียงผืนเดียวแต่นำไปใช้ได้สารพัด ด้วยแนวคิดเดียวกันนี้ทำให้ศิลปินหนุ่ม นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล เจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์  นำผ้าขาวม้าไทยมาสร้างสรรค์ เป็นงานศิลป์ ออกแสดงสู่สากล และเป็น 1 ในผลงานที่สะท้อนความเท่แบบไทย ในนิทรรศการไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์ ซึ่งรวมผลงานศิลปะกว่า 300 ชิ้นจัด แสดงเต็มพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แสดงความเจริญของศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9 ที่ไม่เพียงแสดงคุณค่าของความเป็นไทย ยังสร้างชื่อให้ศิลปะไทยก้าวไกลในระดับนานาชาติ

นายอภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า "มุมองของชาวต่างชาติที่มีต่อคนไทยนั้นเท่มากเลย โดยสนใจที่คนไทยเเต่งตัวเเบบพื้นบ้าน การใช้วัฒนธรรมอันดีงามของคน ไทยในชนบทเป็นสิ่งที่ไม่มี เป็นสิ่งชาวต่างชาติโหยหา  และเมื่อเนื้อหาเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยศิลปิน เเละศิลปินก็สามารถใช้ความเป็นชนบทยกเอา เหมือนกับความสบายๆในท้องถิ่นเป็นงานหลักที่นำมาเเสดงสู่นานาชาติได้"

จุดเด่นของนิทรรศการไทยเท่ คือการเล่าประวัติศาสตร์ศิลป์ในรูปแบบของเส้นทามไลน์ค่ะ แทนสีเขียวเป็นประเทศไทย สีชมพูเอเชียและก็ชาติตะวันตกเป็นสีฟ้า ซึ่งในอดีตใน ช่วงปี พ.ศ.2505 ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเปิดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเป็น ครั้งแรก ก็ได้ตรงกับช่วงที่วงเดอะบีทเทิล ปล่อยซิงเกิ้ลเปิดตัว Loveme do ซิงเกิ้ลแรกของพวกเขาเป็นครั้งแรก

ผลงานศิลปะในนิทรรศการไทยเท่ จัดแสดงโดยแบ่งตามแนวเรื่อง อย่าง เส้นผมของศิลปินหญิง อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ นำมาถักทอเป็นรูปทรงที่ทำให้ความรู้สึกถึงการปกป้อง ถนอมรักษา และความเป็นแม่ ในชื่อ สี่ดรุณี ผลงานศิลปะเกี่ยวกับ "เพศ" ในห้อง "เพศสภาพและความเป็นชายขอบ" รวมถึงแรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา ทำให้ศิลปิน หลายคนสร้างงานที่สะท้อนถึงศรัทธา และแนวคิด  เช่น  สัมมาทิฏฐิ ภาพไตรภูมิและดอกไม้ในสรวงสวรรค์ งานศิลป์ที่โดดเด่นด้วยขนาด และเทคนิค ฝีมือศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ อังคาร กัลยาณพงศ์

ด้านสุลักษณ์  ศิวรักษ์ นักเขียนและนักวิชาการอิสระ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าชมงานศิลปะไทยเท่ เผยว่า  "การแสดงภาพเขียนของอังคาร กัลยาณพงศ์ ซึ่งเป็นภาพที่หาชมได้ยาก เนื่องจากเป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษที่ถูกนำมาแสดง และเพื่อเป็นเกียรติแก่ศิลปินท่านนี้ ซึ่งไม่มีใครเปรียบเทียบได้ ซึ่งยังแสดงให้เห็นว่าอังคาร กัลยาณพงศ์นั้นเก่งในการเขียนขาว-ดำ ซึ่งยากที่จะหาใครเทียบ รวมถึงยังมีทั้งความเป็นไทยความเป็นเทศ ถือว่าสวยงามเป็นเลิศ"

ขณะ ที่ ภาริอร วัชรศิริ ผู้เข้าชมงานศิลปะไทยเท่ เผยว่า การเข้าชมงานครั้งนี้ส่วนใหญ่ก็ได้ความเพลิดเพลินเป็นหลัก และรู้สึกว่ามันมีสื่อหลากหลายทั้งแบบสื่อผสม รวมถึงวิธีการ เทคนิคที่ศิลปินเลือกใช้ล้วนให้ความรู้ดีด้วย และจุดสำคัญคือจุดยืนที่ชัดเจนว่าแบบเป็นงานที่ไทยเท่ซึ่งก็เป็นท้องถิ่นไป สู่สากล ซึ่งค่อนข้างยากที่จะนำงานที่เป็นของราชการ หรือเป็นของเอกชน และของส่วนบุคคลมารวมกันแล้วนำมาจัดแสดงซึ่งควรที่จะหาโอกาสมาดูอย่างยิ่ง

ขณที่แอนโทนี สมิท ผู้เข้าชมศิลปะไทยเท่ กล่าวว่า "ตื่นตากับพัฒนาการของศิลปะร่วมสมัยไทย ที่ศิลปินไม่ได้สร้างสรรค์ผลงานเพียงเรื่องศาสนา ครอบครัว หรือพระมหากษัตริย์ แต่ต่อยอดไปไกลนำหน้าชาติตะวันตกด้วยซ้ำ"

นิทรรศการ ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์ นำเสนอผลงานศิลปะกับวิถีชีวิต ที่มีความหมายในบริบททางศาสนา ความเชื่อ สังคมและประวัติศาสตร์ไทย ผลงานโดดเด่นในรอบ 7 ทศวรรษ จากศิลปินทั้งรุ่นใหญ่ และรุ่นใหม่มากกว่า 300 คน เช่น ศิลป์ พีระศรี, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์,ถาวร โกอุดมวิทย์,พิณรี สัณฑ์พิทักษ์,อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ อเล็กซ์ เฟส จัดแสดงถึง 4 พฤศจิกายน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง