เสียงสะท้อน 1 ปีโครงการจำนำข้าว "ได้ไม่คุ้มเสีย"

8 ก.ย. 55
13:39
23
Logo Thai PBS
เสียงสะท้อน 1 ปีโครงการจำนำข้าว "ได้ไม่คุ้มเสีย"

ตลอด 1 ปีของโครงการรับจำนำข้าวที่เริ่มตั้งเดือน ตุลาคมปีที่แล้ว (2554) และกำลังจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 15 กันยายนนี้ หลายภาคส่วนสะท้อนว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจตรงกับเป้าหมายของรัฐบาลที่สร้างความพอใจให้ชาวนาได้ แต่อีกด้านกลับสร้างปัญหาอื่นๆ เช่น ทุจริตคอร์รัปชั่น การส่งออกข้าวลดลง กลไกตลาดถูกทำลาย ทำให้หลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดโครงการรับจำนำ

<"">
<"">

ชาวนาใน อ. บางเลน จ.นครปฐม รายหนึ่งที่ถือว่าเป็นหนึ่งในหลายคนที่พอใจกับราคาข้าวที่เพิ่มขึ้น แม้จะไม่ได้ตันละ 15,000 บาทตามที่รัฐบาลตั้งไว้ เพราะข้าวของเขามีความชื้นสูงเกินร้อยะล 15 สอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่ระบุว่าชาวนาร้อยละ 80 พอใจโครงการรับจำนำเพราะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น

แต่เมื่อดูผลของการส่งออก 7 เดือนที่ผ่านมา ยอดส่งออกข้าวไทยลดลงเกือบร้อยละ 50 รายได้จากการส่งออกข้าวหายไปเดือนละ 6,000 ล้านบาท เพราะราคารับจำนำสูงกว่าประเทศคู่แข่งกว่าตันละ 3,000 บาท ทำให้ประเทศผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่น

ขณะที่ ม.ร.ว.ปริดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอดีต ระบุว่า โครงการรับจำนำข้าว เป็นนโยบายเดียวของรัฐบาลที่ตนเองไม่เห็นด้วย เพราะรัฐต้องใช้งบประมาณมากเพื่ออุ้มชาวนา แต่ชาวนากลับไม่ใช่ผู้ที่ได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย

รวมถึง นายจำเริญ ณัฐวุฒิ เจ้าของโรงสีข้าวแห่งหนึ่งใน จ.กำแพงเพชร ยอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริตทุกขั้นตอนจึงไม่ต่างจากที่ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่านโยบายนี้เป็นภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมข้าว โดยรัฐบาลควรใส่ใจกับการพัฒนาชาวนาและอุตสาหกรรมข้าวอย่างยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการการวิจัย ลดต้นทุน พัฒนาตลาดกลาง แทนการอุดหนุนราคา

ก่อนหน้านี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าว ไว้ว่าคงไม่น่าภูมิใจหากไทยเป็นแชมป์ในการส่งออกข้าวแต่ชาวนายังยากจนเพราะ ฉะนั้นหากไทยต้องเสียแชมป์การส่งออกแต่ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ น่าภูมิใจมากกว่า วันนี้ผู้ส่งออกระบุว่าไทยเสียสถานะผู้ส่งออกข้าวที่ครองมากว่า 30 ปี ให้กับประเทศอินเดียและเวียดนามแล้ว

โครงการรับจำนำข้าวกำลังสร้างภาระหนี้ให้ประเทศ ขณะนี้ใช้งบประมาณไปแล้วเกือบ 270,000 ล้านบาท จากข้าวในสต็อกเกือบ 11 ล้านตันและเตรียมของบเพิ่มอีกกว่า 405,000 ล้านบาท กับการรับจำนำรอบใหม่ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ขณะที่การระบายข้าวล็อตล่าสุดทำได้เพียงกว่า 200,000 ตันเท่านั้นซึ่งผู้ส่งออกประเมินว่ารัฐบาลขาดทุน กว่า 2,000 ล้านบาท และหากคิดจากปริมาณข้าวที่รับจำนำไว้ทั้งหมด รัฐบาลอาจจะขาดทุนกว่า 100,000 ล้านบาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง