เกษตรกรเรียกร้องรัฐทบทวนมาตรการจำกัดส่งออกยาง

Logo Thai PBS
เกษตรกรเรียกร้องรัฐทบทวนมาตรการจำกัดส่งออกยาง

ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทยเรียกร้องรัฐบาลทบทวนมาตรการจำกัดโควต้าส่งออกยางพารา หลังทำข้อตกลงเบื้องต้นระหว่าง 3 ประเทศส่งออกและผลิตยางรายใหญ่ โดยสภาการยางเห็นว่าไม่ช่วยให้ราคายางดีขึ้น

ราคายางในตลาดโลกที่ตกต่ำทำให้ไทย อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ทำข้อตกลงเบื้องต้น จะลดการส่งออก 300,000 ตัน หรือ ร้อยละ 3 ของปริมาณยางในตลาดโลก เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ เพื่อดึงราคายางเพิ่ม แต่นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย เห็นว่ามาตรการนี้จะส่งผลให้ราคายางยิ่งตกต่ำ เนื่องจากในเดือนหน้า ปริมาณผลผลิตของเกษตรกรจะออกมามาก ทำให้ปริมาณยางในประเทศเพิ่มขึ้น จึงต้องการให้รัฐบาลทบทวนมาตรการ

พร้อมระบุว่าหากผู้ส่งออกต้องลดการส่งออกร้อยละ 10 รัฐบาลจะต้องซื้อยางจากเกษตรกรร้อยละ 10 เช่นเดียวกัน หรือลดการเก็บเงินสงเคราะห์หรือเงินเซสส์ จากผู้ส่งออกยางพาราจาก กก.ละ 5 บาท เหลือ กก.ละ 10 สต. เป็นเวลาชั่วคราว จึงจะทำให้เงินส่วนต่างกลับคืนสู่เกษตรกร

ขณะที่นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เชื่อว่ามาตรการดังกล่าว จะทำให้ราคายางปรับเพิ่มขึ้น เพราะดึงผลผลิตออกจากตลาดชั่วคราว โดยขณะนี้ประเทศผู้ซื้อรายใหญ่อย่างจีนชะลอซื้อยางจากไทย เนื่องจากยังมียางสำรองไว้อีกราว 200,000 ตัน

ในส่วนกรมส่งเสริมวิชาการเกษตร จะเร่งแก้ปัญหาราคายางระยะสั้น ด้วยการรณรงค์ลดการกรีดยาง ส่วนองค์การสวนยางจะยังคงรับซื้อยางเก็บสต็อกชั่วคราวเพื่อระบายในจังหวะที่เหมาะสม

สำหรับการแก้ปัญหาราคายางระยะยาว สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจะส่งเสริมให้มีการใช้ยางในประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะส่งเสริมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง จากปัจจุบันที่ส่งออกประมาณร้อยละ 80


ข่าวที่เกี่ยวข้อง