กบอ.ระบุเหตุน้ำท่วมสุโขทัยเกิดจากพนังกั้นน้ำถูกกัดเซาะ

สังคม
10 ก.ย. 55
10:27
61
Logo Thai PBS
กบอ.ระบุเหตุน้ำท่วมสุโขทัยเกิดจากพนังกั้นน้ำถูกกัดเซาะ

กบอ.ระบุเหตุน้ำท่วมในจังหวัดสุโขทัยเกิดจากพนังกั้นน้ำถูกกัดเซาะจากด้านล่างเพราะน้ำปริมาณน้ำยังต่ำกว่ากำแพงกั้นน้ำกว่า 1 เมตร ซึ่งนายกฯได้แสดงความเป็นห่วงในที่ประชุมและมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งให้การช่วยเหลือ

วันนี้ (10 ก.ย.) ทำเนียบรัฐบาล นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยหรือกบอ.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน โดยนายรอยล ยืนยันถึงสาเหตุน้ำท่วมไม่ได้เกิดจากน้ำล้นตลิ่งแต่เกิดจากการระบายน้ำที่ไม่เท่ากันในแต่ละคลอง

ซึ่งที่จังหวัดสุโขทัยเกิดน้ำท่วมเนื่องจากพนังกั้นน้ำถูกกัดเซาะจากด้านล่างเพราะน้ำปริมาณน้ำยังต่ำกว่ากำแพงกั้นน้ำกว่า 1 เมตร ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงในที่ประชุมและมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งให้การช่วยเหลือ

ขณะเดียวกันให้ทยอยพร่องน้ำไปยังทุ่งอยุธยาและเขื่อนเจ้าพระยาเพราะหากเร่งระบายน้ำจะทำให้ตลิ่งพัง  พร้อมให้ความมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมขัง เนื่องจากคาดว่าในปีนี้ (2555)น้ำฝนมีปริมาณน้อยกว่าปีที่แล้ว (2554) ร้อยละ 20 อีกทั้งเป็นห่วงสถานการณ์น้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ปริมาณน้ำยังมีมากแต่ก็ได้ระบายไปแล้ว

ส่วนเขื่อนภูมิพลที่รองรับน้ำได้ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันและเขื่อนสิริกิตติ์ที่รองรับน้ำได้ 70-80 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้

ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน  ยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการน้ำในภาคเหนือได้ทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ เนื่องจากยังมีศักยภาพในการรองรับน้ำ อีกทั้งยังได้ลดระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาลงเพื่อให้สามารถรองรับน้ำได้อีก 30-50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมให้ความเชื่อมั่นว่าน้ำจะไม่เข้าท่วมนพื้นที่กทมเนื่องจากประตูระบายน้ำในช่วงปลายน้ำยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ และที่ผ่านมาได้มีการทดสอบการระบายน้ำแล้ว

ขณะที่นายวิบูลย์ สงวนพงษ์ ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่าจะดำเนินการซ่อมทางรถไฟสายเหนือที่ จ.ลำพูนให้แล้วเสร็จวันพรุ่งนี้(11 ก.ย.) เพื่อให้การเดินรถไฟกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และในระยะยาวก็จะแก้ปัญหาร่องน้ำที่ทำให้ดินบนรางรถไฟยุบตัว ทั้งนี้จากการประชุมคณะกรรมการปฏิบัติการพื้นที่กลางน้ำพบว่าใน 4 อำเภอของ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งอยู่แล้ว ซึ่งประชาชนในพื้นที่ก็เข้าในปัญหาที่เกิดขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง