"แจ๊ส อะแคปเปลลา" อีกทางเลือกของคอแจ๊สเมืองไทย

Logo Thai PBS
"แจ๊ส อะแคปเปลลา" อีกทางเลือกของคอแจ๊สเมืองไทย

กระแสนิยมดนตรีแจ๊สที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมืองไทย ส่วนหนึ่งเพราะมีการเปิดสอนดนตรีประเภทนี้อย่างจริงจัง รวมถึงยังมีพื้นที่ให้นักดนตรีได้แสดงฝีมืออย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับคอนเสิร์ต ศิลปากร แจ๊ส อะแคปเปลลา ผสมผสานเอกลักษณ์ของดนตรี 2 ชนิดเข้าด้วยกัน หวังเป็นอีกทางเลือกให้กับคอแจ๊สเมืองไทย

เสียงประสานของนักร้องทั้ง 8 คนในแบบอะแคปเปลลา หรือการใช้เสียงที่สร้างจากมนุษย์แทนเครื่องดนตรี บวกกับการด้นสดอันเป็นเอกลักษณ์ของดนตรีแจ๊ส ช่วยขับเน้นให้เพลง Smile ผลงานที่ชาลี แชปลิน นักแสดงภาพยนตร์เงียบชื่อก้องโลก ประพันธ์ไว้เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์ Modern Time ของเขาในปี 1936 ให้มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น 
 
เสน่ห์ของแนวดนตรี 2 ชนิด ถูกรวมไว้บนเวทีศิลปากร แจ๊ส อะแคปเปลลา ฟีทเจอริ่ง เดอะ ซันนี่ ทรีโอ คอนเสิร์ต นำเพลงสากลยอดนิยมในอดีตจากศิลปินระดับตำนานทั้ง Cole Porter, Thelonious Monk และ Stevie Wonder มาเรียบเรียงอีกครั้งให้มีความทันสมัยมากขึ้น ไม่เพียงเพิ่มทางเลือกของดนตรีแนวแจ๊สในประเทศไทยให้ผู้ฟัง หากการร่วมมือกันของบรรดานักศึกษา อาจารย์ และศิษย์เก่าจากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังเปิดพื้นที่ให้นักดนตรีแจ๊สรุ่นใหม่ได้แสดงผลงานในวงกว้างอีกครั้ง 
 
กิตติธัช สำเภาทอง นักร้องวงศิลปากร แจ๊ส อะแคปเปลลา กล่าวว่า จริงๆ ในตลาดไทย เรามีวงดนตรี และวงนักร้อง แต่ทีนี้เราพยายามจะหาคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ ขึ้นมา คือเรามีนักร้องหลายคน และทำยังไงให้เขามารวมกันได้ ก็มารวมกันได้ในวงอะแคปเปลลา เราเรียนแจ๊ส เลยทำเป็นอะแคปเปลลาแจ๊สขึ้นมา 
 
รัตนะ วงศ์สรรเสริญ ผู้ควบคุมวงศิลปากร แจ๊ส อะแคปเปลลา กล่าวว่า ศิลปินทุกคนอยากจะสร้างงานแล้วให้คนฟัง อยากให้คนมาฟังว่าเป็นไง แล้วตลาดน่าจะกว้างขึ้นสำหรับคนฟังด้วย คิดว่าน่าจะยังไม่เคยฟังแจ๊สร้อง 8 คนรวมกัน หลักๆ น่าจะเป็นอย่างนี้ คือให้คนฟังได้มีทางเลือกมากขึ้น และให้นักดนตรีได้แสดงฝีมือเป็น 2 ทาง 
 
ชลนรรจ์ ลิ่มไทย นักร้องรับเชิญคอนเสิร์ตศิลปากร แจ๊ส อะแคปเปลลา กล่าวว่า จริงๆ แล้วตอนนี้สื่อต่างๆ มันหาฟังได้เยอะ แต่การมีคอนเสิร์ตทำให้เด็กที่เป็นนักเรียนดนตรี หรือคนที่ชอบดนตรีได้เข้าใกล้เพลงแจ๊สมากขึ้น สัมผัสได้ง่าย และไม่ใช่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่เล่นแจ๊ส เด็กๆ ก็เล่น 
 
ผลงานของศิลปินแจ๊สชาวไทย รวมถึงความเข้าใจในดนตรีที่มากขึ้นของกลุ่มผู้ฟัง ทำให้ความนิยมในดนตรีแนวนี้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรการเรียนการสอน และให้ความรู้อย่างจริงจัง เช่นเดียวกับวงศิลปากร แจ๊ส อะแคปเปลลา ที่ใช้เวลาฝึกซ้อมต่อเนื่องตลอด 5 ปี จนกลายเป็นวงแจ๊ส อะแคปเปลลา วงแรกของประเทศไทย โดยหวังใช้การประสานเสียงของพวกเขาสร้างมิติใหม่ให้กับผู้ชื่นชอบดนตรีแนวแจ๊สในเมืองไทย  
 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง