ตรวจสอบเหตุสารตะกั่วปนเปื้อนในเลือดเด็กนักเรียน จ.ระยอง

10 ก.ย. 55
14:24
440
Logo Thai PBS
ตรวจสอบเหตุสารตะกั่วปนเปื้อนในเลือดเด็กนักเรียน จ.ระยอง

หลังจากผลการศึกษาของทีมนักวิจัยจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่านักเรียนในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.ระยองมีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่ในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐาน 82 คน จากทั้งหมดกว่า 900 คน โดยเฉพาะที่โรงเรียนวัดปทุมาวาส มีสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐานมากถึง 34 คน ทำให้กรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่เร่งตรวจหาสาเหตุการปนเปื้อน

<"">
<"">

ขณะที่ ดินกลายเป็นสมมติฐานล่าสุด ที่อาจเป็นสาเหตุของการปนเปื้อนสารตะกั่ว หลังตรวจไม่พบในอากาศและไม่มีการปนเเปื้อนในน้ำ แต่เมื่อใช้เครื่องเอ็กเรย์ฟลูออเรสเซ้นส์ ปรากฏว่ามีการปนเปื้อนในดินน้อยมาก แต่กลับพบว่ามีการปนเปื้อนสารตะกั่วสูงใน จานสังกะสี

เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินสารเคมี กรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ ร.ร.วัดปทุมาวาส ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง หลังพบว่านักเรียนมีปริมาณการปนเปื้อนสารตะกั่วในเลือดสูงถึง 34 คน ทำให้เจ้าหน้าที่เร่งหาสาเหตุการปนเปื้อนสารตะกั่วโดยเร็วที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมาไม่พบความผิดปกติจากสิ่งแวดล้อม โดยผลตรวจสภาพอากาศในพื้นที่ช่วงวันที่ 24 พ.ค. - 17 มิ.ย.2555 พบปริมาณตะกั่วปนเปื้อนเพียง 0.01 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรโดยค่ามาตรฐานอยู่ที่ 1.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ส่วนแหล่งน้ำที่ค่ามาตรฐานการปนเปื้อนสารตะกั่วต้องไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อลิตรแต่เมื่อเก็บตัวอย่างน้ำบ่อตื้น น้ำประปาของโรงเรียน ก็พบการปนเปื้อนน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น ดินจึงกลายเป็นสมมติฐานล่าสุดที่อาจเป็นสาเหตุการปนเปื้อนสารตะกั่วในนักเรียน

เจ้าหน้าที่นำเครื่องเอ็กเรย์ฟลูออเรสเซ้นส์ สแกนตัวอย่างดินประมาณ 1 นาที โดยทั้งธาตุวัตถุต่างๆ ที่ประกอบในดินก็ปรากฎขึ้น โดยพบตัวอย่างดิน 2 ตัวอย่างจากทั้งหมด 6 ตัวอย่าง มีค่าสูงสุดที่ 23 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมแต่ยังน้อยกว่าค่ามาตรฐานที่ 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

จึงสรุปได้ว่าดินไม่น่าจะเป็นสาเหตุ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ละความพยายาม จึงได้นำหม้อหุงข้าวมาตรวจ จึงพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่เมื่อตรวจจานสังกะสี กลับพบว่า มีการปนเปื้อนของสารตะกั่วสูง

ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินสารเคมี จึงแนะนำให้โรงเรียนเปลี่ยนภาชนะจากจานสังกะสี มาใช้จานกระเบื้องหรือเมลามีน พร้อมกันนี้ยังเสนอให้ปรับสภาพดินบริเวณสนามหญ้าโดยนำดินมาถมใหม่ เพื่อให้ค่าสารตะกั่วลดลง วิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สารตะกั่วไม่เพียงพบอยู่ในสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ต้องดูปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพราะอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารตะกั่วได้

เมื่อทีมข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่สำรวจพื้นที่บริเวณโดยรอบพบว่า ที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ระยอง ไม่น้อยกว่า 20 กิโลเมตร และไม่มีอู่ซ่อมรถนอกจากดูการปนเปื้อนสารตะกั่วในชุมชนแล้ว กรมควบคุมมลพิษ ยังคงเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ สาร BOC เพราะเป็นสารก่อมะเร็ง ที่พบว่าเกินค่ามาตรฐาน อยู่ในหลายพื้นที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและพลังงาน จากนี้ไปจะต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เพื่อตรวจสอบและแก้ปัญหาอย่างเข้มข้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง