ขับเคลื่อน มหกรรมศิลปวัฒนธรรมสุรินทร์ นำร่องจัดพื้นที่สาธารณะเพื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชน

Logo Thai PBS
ขับเคลื่อน มหกรรมศิลปวัฒนธรรมสุรินทร์ นำร่องจัดพื้นที่สาธารณะเพื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชน

ศิลปินคือผู้ที่เข้าใจศิลปะ เป็นผู้ที่ใช้อารมณ์ความรู้สึก เพื่อการสร้างสรรค์ เป็นผู้ที่มีศิลปะและใช้ศิลปะเพื่อจรรโลงโลก สร้างสิ่งที่งดงามสู่สังคมได้

 เมื่อศิลปินคือผู้สร้างศิลปะ และศิลปะก็ทำให้จิตใจคนละเอียดอ่อนขึ้นได้ งานนี้จึงเกิดขึ้น ผ่านคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป สำนักงานปฏิรูป (สปร.) และแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ จัด มหกรรมศิลปวัฒนธรรมสุรินทร์ ครั้งที่ 1 ที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 80 พรรษา เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนา งานศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งงานด้านวรรณศิลป์ ด้านคีตศิลป์ ด้านศิลปะการแสดง และด้านทัศนศิลป์ขึ้น และยังได้มอบรางวัลศิลปินภูมิบ้านภูมิเมืองให้แก่ศิลปินทั้ง 4 สาขา รวม 8 คนเพื่อเชิดชูเกียรติอีกด้วย

             
โดยนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป  บอกว่า การจัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมสุรินทร์ ครั้งที่ 1 ในครั้งนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป และสำนักงานปฏิรูป (สปร.) ได้ขอความร่วมมือจากจังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดนำร่องในการจัดพื้นที่สาธารณะเพื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์เป็นหน่วยงานผู้ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในจังหวัด ด้วยกรอบแนวทางการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนา งานศิลปะแขนงต่างๆ อาทิ งานด้านวรรณศิลป์ ด้านคีตศิลป์ ด้านศิลปะการแสดง และด้านทัศนศิลป์ ที่เน้นสร้าง “กิจกรรมทางศิลปะ” ให้เข้าไปมีบทบาทนำการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน 
 
อันจะเป็นการดึงประเด็นปัญหาชุมชน สังคม สร้างคุณค่าและรสนิยมแก่จังหวัด ให้มีกิจกรรมที่หลากหลายอย่างต่อเนื่องหมุนเวียนกันไป จนนำไปสู่การจัดการให้เกิดอัตลักษณ์ คุณค่า – และความยั่งยืน เกิดเป็นองค์กรศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชนและกฎหมายเกี่ยวข้องขึ้น ในปีนี้นอกจากจะมีจังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดนำร่องในการจัดพื้นที่สาธารณะเพื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนแล้วยังมี จังหวัดสงขลา จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดหนองบัวลำพู และจังหวัดราชบุรีด้วยโดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.artculture4health.com   
 
นายไกรศักดิ์ วรทัต ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ บอกว่า จากนโยบายดังกล่าวองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ได้กำหนดกิจกรรมการขับเคลื่อนงานศิลปวัฒนธรรมชุมชนสุรินทร์ออกดังนี้ 1.มีการจัดนำเสนองานของศิลปินในแต่ละด้าน ทุกวันเสาร์ ที่เวทีเชียงปุม โดยจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกิจกรรมให้ครอบคลุมงานศิลปวัฒนธรรมทุกด้าน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุรินทร์ ที่มีศิลปินแห่งชาติมารวมตัวกันถึง 4 คน อาทิ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นายสุรชัย จันทิมาธร, นางฉวีวรรณ ดำเนิน และรองศาสตราจารย์เขมรัฐ กองสุข มาพร้อมกันบนเวที
 
สำหรับกิจกรรมที่จะมีในงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมสุรินทร์ ครั้งที่ 1 นี้นอกจากจะมีการออกร้านนิทรรศการ ของศิลปินทั้ง 4 สาขา มากมายอาทิ สาขาวรรณศิลป์ มีประกวดคัดลายมือ, อ่านคำผญา/สุภาษิตพื้นบ้าน/นิทานพื้นเมือง บทกวี, ประกวดคำขวัญ สาขาทัศนศิลป์ มีการสาธิตและสอนการแทงหยวก, การทำเครื่องเงินโบราณ, เครื่องจักสาน, นิทรรศการศิลปะย่อย, ประกวดวาดภาพจากบทกวี, เรียนรู้ศิลปะเบื้องต้นทั้งศิลปะสากลและศิลปะไทย, การแกะสลักไม้ไผ่ สาขาคีตศิลป์ มีสาธิตการผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้าน, นิทรรศการผลงานกลุ่มคีตศิลป์, สาธิตการบรรเลงดนตรี, การขับร้องประกอบดนตรีโดยไพโรจน์ โสนาพูน, ศิลปินอิสระ, เยาวชนและบุคคลทั่วไป, แลกเปลี่ยนเสวนาวิพากษ์ผลงานคีตศิลป์, จัดทำทำเนียบกลุ่มคีตภูมิปัญญาสะเร็น และสาขาศิลปะการแสดง มีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น เรือมอันเร รำตร๊ด แกลมอ เล่นสะบ้า รำผีฟ้า  ลิเกเขมร หมากรุก หมากฮ็อด, ประกวดการแสดงร่วมสมัย เช่น บีบอย เต้นโค๊ฟเวอร์ ประกวดร้องเพลง ประกวดคีตมวยไทย
               
ทั้งยังมีการขับขานบทกวีและแสดงดนตรีจากวง คันนายาว นำโดย นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์, การแสดงกันตรึมพื้นบ้าน, การแสดงจากน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์, การแสดงเจรียงเบริน การอ่านบทกลอน บทกวี การแสดงศิลปวัฒนธรรมจังหวัดนาร่อง จาก หนองบัวลำภู การแสดงพิเศษจากศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง คุณฉวีวรรณ ดำเนิน และคอนเสิร์ต จากนายสุรชัย จันทิมาธร ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พร้อมวงคาราวาน เต็มวง, แสดงดนตรีพื้นบ้านและสากล, การขับเสภาและผญา, การแสดงละครของกลุ่มเด็กรักษ์ป่า, การแสดงศิลปวัฒนธรรมของศิลปินด้านคีตศิลป์ และการนำเสนองานด้านศิลปะจากศิลปินชาวสุรินทร์ รองศาสตราจารย์เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินเหรียญทองสาขาทัศนศิลป์ด้วย
              
นอกจากการแสดงและการรวมตัวกันของศิลปินต่างๆ ของสุรินทร์แล้วในงานนี้ยังได้มีการมอบรางวัลศิลปินภูมิบ้านภูมิเมืองให้กับศิลปินใน 4 สาขาด้วย โดยสาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นายอัษฎางค์ ชมดี และนายวิลาศ โพธิสา, สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ นายเสงี่ยม พวงคำ และนายสมบูรณ์ เสาร์ศิริ, สาขาสาขาคีตศิลป์ ได้แก่ นายวิชา นิลกระยา และนายเผย ศรีสวาท, สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นางสำรวม ดีสม และนายบุญคม นนทสอน
 
          
ด้านนายสุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน เล่าว่า ตนเป็นคนสุรินทร์เกิดที่อ.รัตนบุรี ยอมรับว่าสุรินทร์มีศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นมากอย่างเพลงเจรียง, เพลงกันตรึม ซึ่งเป็นเพลงที่ทำให้คนฟัง ฟังแล้วซึ้งตามทั้งน้ำตาไหล, เศร้าใจ, หัวเราะ, สนุกสนานได้ แต่ปัจจุบันมีการสืบสานน้อยมาก การเกิดมหกรรมศิลปวัฒนธรรมสุรินทร์ ครั้งที่ 1 นี้ขึ้นมาถือได้ว่าเป็นการรวมตัวกันของศิลปินจำนวนมาก ครบทั้ง 4 สาขา นอกจากจะเป็นการส่งเสริมผลงานของศิลปินเปิดโอกาสให้ศิลปินได้มีเวทีในการเผยแพร่ ถ่ายทอดผลงานแล้วยังเพิ่มพูนแรงใจให้กับเจ้าของผลงานนั้นๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยจรรโลงสังคมให้ดูมั่นคงและดูสวยงาม เพราะสังคมขาดศิลปะไม่ได้ ศิลปะเปรียบเสมือนกับเส้นเอ็น เส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงร่างกายของมนุษย์ทำให้มีชีวิตอยู่ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
           
ส่วนนางสำรวม ดีสม หรือ น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ ศิลปินพื้นบ้านกันตรึม บอกด้วยว่า งานในครั้งนี้นำศิลปินในทุกเครือข่ายมารวมกัน ทำให้ศิลปินที่นี่รับรู้ว่าไม่ได้อยู่กันอย่างโดดเดี่ยว การเกิดเป็นเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์ทั้งยังเป็นจังหวัดนำร่องในการทำงานเชื่อว่า นอกจากจะทำให้ผลงานที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษได้มีเวทีในการเผยแพร่แล้ว การรวมตัวกันเป็นกลุ่มแบบนี้จะทำให้ศิลปินมีพลังที่จะทำให้สังคมได้รู้ได้เห็นว่าจังหวัดสุรินทร์มีทั้งศิลปิน และศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจอยู่เป็นจำนวนมาก และนี่จะเป็นสิ่งที่จะเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปให้กับศิลปินได้เป็นอย่างดี และมีแรงสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้สังคม ให้ประเทศได้อีกอย่างยาวนาน
 
ถือว่าเป็นมหกรรมแรกที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดจังหวัดนำร่องการทำงานทั้ง 5 จังหวัดแล้ว จากนี้ไม่เพียงแค่เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปที่จังหวัดสุรินทร์เท่านั้นที่จะมารวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์สังคม ลดปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทยลงได้ ด้วยศิลปินที่เป็นเจ้าของศิลปะ และอีกไม่นานไม่เพียงแค่ 5 จังหวัดนี้เท่านั้นแต่จะมีการขับเคลื่อนผลักดันอย่างต่อเนื่องโดยใช้จังหวัดนำร่องนี้เป็นต้นแบบในการทำงานต่อไป และถึงวันนั้นพื้นที่สาธารณะเพื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนก็จะเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศได้เป็นแน่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง