"เฉลิม"แถลงผลงาน 1 ปี "ศพส." ตัดเส้นทางขนส่งยาเสพติด-บำบัดผู้เสพได้เกินเป้า

การเมือง
12 ก.ย. 55
10:02
55
Logo Thai PBS
"เฉลิม"แถลงผลงาน 1 ปี "ศพส." ตัดเส้นทางขนส่งยาเสพติด-บำบัดผู้เสพได้เกินเป้า

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผอ.ศพส. แถลงผลการดำเนินงาน ครบรอบ 1 ปี ศพส. โดยร่วมกับทหาร-ตำรวจ สกัดกั้นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดจากตะเข็บชายแดนและขจัดสารตั้งต้นยาเสพติด รวมถึงเผยยอดการเข้ารับการบำบัดรยาเสพติด เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมกว่า 500,000 คน

วันนี้ (12 ก.ย.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ หรือ ศพส. ร่วมกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ หรือ ป.ป.ส. แถลงผลงานวาระครบรอบ 1 ปี วาระแห่งชาติเอาชนะยาเสพติดว่า ได้ร่วมกับทางทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกันสกัดกั้นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดจากตะเข็บชายแดนรวมถึงการตัดเส้นทางของสารตั้งต้นยาเสพติด "ซูโดอีเฟดรีน"พร้อมทั้งร่วมมือ กับ ประเทศจีน, ลาว และพม่า ตั้งจุดตรวจลำน้ำโขงและแนวตะเข็บชายแดนในการปราบปรามยาเสพติด

ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ยังกล่าวขอบคุณกองทัพบก เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติดจนผลงานอย่างมากมาย รวมถึงการบำบัดผู้ติดยาเสพติดที่มีผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดเกินกว่าที่ตั้งไว้ คือ 400,000 คน แต่มีผู้เข้ารับการบำบัด ทั้งสมัครใจ บังคับบำบัด และระบบต้องโทษ รวมกว่า 500,000 คน

ด้าน พล.ท.หฤษฎ์ พุ่มหิรัญ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ศพส.กล่าวถึงบทบาทของกองทัพ ในการบำบัดรักษาและฟื้นฟู สมรรถภาพผู้ที่ติดยาเสพติด ที่ทางรัฐบาลขอสนับสนุนกองคุมประพฤติใช้หน่วยที่ตั้งของทหาร จำนวน 52 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในปี 2555 มีผู้เข้ารับการบำบัดกว่า 7,000 คน ซึ่งในการบำบัดจะใช้เวลาทั้งหมด 6 เดือน โดยแบ่งเป็น 2 เดือนแรกเป็นการฟื้นฟูทางด้านร่างกาย และระเบียบวินัย 2เดือนต่อมาจะฟื้นฟูสภาพจิตใจ และ 2 เดือนสุดท้ายจะเป็นการเตรียมพร้อมให้ผู้เข้ารับการบำบัดกลับสู้สังคม สำหรับในปี 2556 ยืนยันและพร้อมบำบัด และฟื้นฟูผู้ที่ติดยาเสพติด เพื่อที่จะกลับเข้าสังคมได้อีก

น.อ.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ารัฐบาลได้กำหนดว่าการบำบัดผู้ติดยาเสพติดให้.ช้หลักเมตตาธรรม ซึ่งให้ถือว่าผู้ที่ติดยาเสพติดถือเป็นผู้ป่วย ที่จะต้องได้รับการดูแล และรักษา พร้อมทั้งระบุว่าผู้ที่ได้รับการบำบัดเรียบร้อยแล้วจะต้องไม่กล้บไปใช้ยาเสพติดอีก โดยมีการติดตามผลการรักษา และให้ครอบครัวช่วยดูแลสอดส่อง และผู้ที่เข้ามารับการรักษามากที่สุดคือ ผู้ใช้แรงงาน รองลงมาเป็นเกษตรกร และอันดับ 3 คือนักเรียนนักศึกษา โดยพบว่าผู้ที่ติดยาเสพติดที่อายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 9 ปี

ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม เผยว่า ขณะนี้ได้ร่างกฎหมาย เพิ่มเติม คือถ้าตรวจพบผู้ติดยาเสพติดจะไม่มีการจับ แต่จะส่งบำบัดทันที พร้อมผลักดันโทษประหารชีวิตจากที่ศาลอาญาตัดสินเห็นพ้องกับศาลชั้นต้น การประหารชีวิตต้องมากกว่า 60 วันไปแล้วถึงจะประหารชีวิตได้เป็นโทษประหารภายใน 15 วัน ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม พร้อมขอความร่วมมือทุกฝ่ายร่วมมือและในปีหน้า 2556  นี้จะเน้นการค้นหาผู้ติดยาเสพติดเพื่อเข้ารับการบำบัด ซึ่งยุทธศาสตร์ ในปี 2556 จะเน้นการจับกุม, การบำบัด, การป้องปราบ และการป้องกัน


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง