กรมชลประทาน เตรียมเสนอนายกฯจัดทำสถานีข้อมูลน้ำที่ อ.บางบาล จ.อยุธยา

สังคม
12 ก.ย. 55
13:50
104
Logo Thai PBS
กรมชลประทาน เตรียมเสนอนายกฯจัดทำสถานีข้อมูลน้ำที่ อ.บางบาล จ.อยุธยา

อธิบดีกรมชลประทาน เผยหลังการประชุม กบอ.ว่า ได้มีการกำหนดจุดเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ คือ บริเวณ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.) นายกรัฐมนตรีจะเดินทางลงพื้นที่บริเวณ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งทางกรมชลประทานเตรียมจัดทำเป็นสถานีข้อมูลเพื่อที่จะรายงานระดับน้ำที่ไหลจากแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมเตรียมเสนอนายกฯพิจารณาต่อไป

วันนี้ (12 ก.ย.) นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือกบอ.ว่า ที่ประชุมได้มีการกำหนดจุดเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ คือ บริเวณอ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะเดินทางลงพื้นที่บริเวณโรงเรียนประชากรรังสฤษดิ์ ต.บางหลวง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

โดยทางกรมชลประทานเตรียมจัดทำเป็นสถานีข้อมูลเพื่อที่จะรายงานระดับน้ำที่ไหลจากแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งหากนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรที่จะให้เป็นจุดต้นแบบในการแก้ไขปัญหาก็จะให้ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.ไปดำเนินการในการตั้งจุดเพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ได้รับทราบถึงระดับน้ำเพื่อให้สามารถเตรียมตัวขนย้ายสิ่งของ และอพยพออกจากพื้นที่

ส่วนจะมีการกำหนดจุดอื่นหรือไม่นั้นคงต้องขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพราะการกำหนดจุดเสี่ยงครั้งนี้ กรมชลประทานกำหนดไว้ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่หากมีความจำเป็นต้องระบายมากกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จุดที่ต้องเฝ้าระวังคือ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี และหลังจากนั้นนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปยังสถานีตรวจวัดน้ำที่ค่ายจิรประวัติ เพื่อรับฟังรายงานปริมาณน้ำ จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังจังหวัดสุโขทัย เพื่อตรวจจุดน้ำลอดใต้พนังกั้นน้ำ

นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เร่งส่งเครื่องสูบน้ำจำนวน 50 เครื่อง ไปยังในพื้นที่แล้วขณะสถานการณ์น้ำที่จ.สุโขทัยนั้น คาดว่า ในวันศุกร์นี้ (14 ก.ย.) สถานการณ์จะคลี่คลาย หากไม่มีฝนตกลงมาอีก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการซ่อมแซมรูรั่วที่พนังกั้นน้ำ ซึ่งกรมชลประทานได้ระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรเข้าไปช่วยแก้ไขอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ การระบายออกจาก จ.สุโขทัยนั้นจะเป็นไปใน 2 แนวทางคือ การไหลออกเองตามธรรมชาติกับการสูบน้ำออกจากพื้นที่ยืนยันจะไม่ส่งผลกระทบกับจังหวัดใกล้เคียง เนื่องปริมาณในแม่น้ำยมมีแนวโน้มลดลง

ภาพจาก www.prachachat.net


ข่าวที่เกี่ยวข้อง