งิ้วในบริบทสังคมไทย

Logo Thai PBS
งิ้วในบริบทสังคมไทย

ย้อนไปเมื่อ 100 กว่าปีก่อน งิ้วในเมืองจีนต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ศิลปินส่วนหนึ่งหนีภัยทางการเมืองมาไทย และมีโอกาสกลับไปฟื้นฟูงิ้วที่บ้านเกิด นี่คือภาพบางส่วนของงิ้วในบริบทสังคม และศิลปวัฒนธรรมไทย จากเวทีเรียนรู้ที่จัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เดินเรื่องกระชับ เนื้อหาสนุกสนานของ "กั้งเง็กกั่วก้วย" หรือสาวใช้กั้งเง็กหิ้วขนม ซึ่งแก้เผ็ดนายจ้างที่ชอบแทะโลมโดยไปแจ้งข่าวแก่นายหญิง มาจัดการสามีจอมเจ้าชู้ เป็นตัวอย่างการแสดงงิ้วในยุคที่เริ่มตกต่ำ เมื่อราว 100 ปีก่อน เนื่องมาจากอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตก และปัญหาภายในจีนยุคต้นสาธารณรัฐ งิ้วแต้จิ๋วปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอดด้วยการประยุกต์การแสดงให้ร่วมสมัยมากขึ้น ศิลปินงิ้วส่วนหนึ่งลี้ภัยมาเมืองไทย สืบทอดการแสดง และมีส่วนสำคัญทำให้งิ้วแต้จิ๋วในเมืองจีนพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ 
 
เปลี่ยนหน้ากากได้เพียงชั่วพริบตา คือจุดขายของการแสดงงิ้วเสฉวนเปลี่ยนหน้ากาก ที่คณะแชลั่งเง็กเล่าชุน นำมาสอดแทรกสร้างสีสัน มักใช้แสดงเรียกคนตอนหัวค่ำก่อนการแสดงจริง "แชลั่งเง็กเล่าชุน" เป็นคณะงิ้วเก่าแก่ในเมืองไทยที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่คณะ แม้มีชื่อเสียงด้านการแสดง แต่มีผู้ชมเหลืออยู่ไม่มากนัก นอกจากอุปสรรคทางภาษา ปัจจัยสำคัญคือการเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น
 
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้ศิลปะการแสดงงิ้วประสบภาวะเสื่อมถอยอย่างรวดเร็ว คณะงิ้วพยายามปรับตัวด้วยรูปแบบการแสดงที่ตื่นตามากขึ้น รวมถึงเพิ่มการแสดง เช่น ระบำ และกายกรรม หากแต่เสน่ห์แท้จริงของงิ้วยังคงอยู่ที่เสียงร้อง ซึ่งนักแสดงต้องใช้พรสวรรค์ และทักษะเฉพาะตัว ที่สำคัญคืองิ้วทุกเรื่องจะสอดแทรกคุณธรรม อันเป็นหัวใจของการแสดงงิ้ว  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง