"โขนชุดจองถนน" สอดแทรกความรู้สถาปัตยกรรม - ใช้ผ้าไทยโบราณในการแสดง

Logo Thai PBS
"โขนชุดจองถนน" สอดแทรกความรู้สถาปัตยกรรม - ใช้ผ้าไทยโบราณในการแสดง

จุดเด่นเรื่องฉาก และเครื่องแต่งกายที่ตระการตา ทำให้การแสดงโขนของกรมส่งเสริมศิลปาชีพได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง หากครั้งนี้ยังสอดแทรกความรู้ด้านสถาปัตยกรรมไทย และนำผ้าไทยโบราณที่หายไปร่วม 100 ปี มาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง หวังสืบสานทั้งศิลปะการแสดงชั้นสูงนี้ และมรดกทางภูมิปัญญาของไทยไปพร้อมกันในการแสดงโขนชุดจองถนน

ความอลังการของการตรวจพล และฉากยกพลรบที่ทศกัณฑ์ออกทำศึกด้วยตัวเองเป็นหนแรก เพิ่มความตื่นตาด้วยราชรถที่สร้างขึ้นใหม่ โดยคงรูปแบบเดิมของกรมศิลปากร และตกแต่งรายละเอียดให้งดงามมากขึ้นตามแบบราชสำนัก คือความพิเศษของการแสดงโขนชุดจองถนน โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 
 
หลังเปิดการแสดงในชุดพรหมมาศ นางลอย และศึกไมยราพ ที่ทุกครั้งสร้างอรรถรสในการชมผ่านฉาก และเครื่องประกอบการแสดง หากแต่ครั้งนี้หวังสร้างความตระการตาไปพร้อมความรู้ด้านสถาปัตยกรรมของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาผ่านฉาก เพื่อให้ต่างจากการแสดงโขนที่ผ่านมา
 
สุดสาคร ชัยเสม ผู้ออกแบบฉาก และอุปกรณ์ประกอบฉาก กล่าวว่า อย่างฉากที่ 1 ตัวพลับพลาต้อง study จากเครื่องไม้ ดังนั้นตัวสถาปัตยกรรมเครื่องไม้ก็ต้องคัดที่เด่นๆมา เช่น ศาลาการเปรียญวัดใหญ่ ซึ่งเป็นเครื่องไม้ที่ดีที่สุดของอยุธยา ปีที่แล้วมันแค่ตื่นเต้น เห็นอะไรตัวใหญ่ๆ ในศึกไมยราพ แต่นี่มันลึก สำหรับคนที่ดูแล้วต้องการความรู้จะดูได้จากชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ธรรมชาติ เครื่องแต่งตัว
 
ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดง กล่าวว่า ในการแสดงที่ผ่านมาไม่เคยมีการตรวจพล หรือรบกันเลย การตรวจพลฝ่ายยักษ์ก็จินตนาการว่าไม่ล้ำลึกขนาดนี้ หมายถึงฉากท่านอาจารย์จำลองพระราชวังมาเลย จักรวรรดิไพชยนต์ ฉากหลังจินตนาการลงไปลึกอีก วิหารสมเด็จ สรรเพชญ์ปราสาท สุริยาศน์อัมรินทร์ เราจะได้เห็นว่ากรุงศรีอยุธยามีความงดงามอย่างไร จินตนาการออกมาให้เป็นกรุงลงกาได้อย่างไร
 
สูญหายไปกว่า 100 ปีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากการปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก จนผ้ายกจากจังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับการรื้อฟื้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และนำมานุ่งเป็นเครื่องแต่งกายในการแสดงโขนครั้งนี้เป็นครั้งแรก
 
วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ กล่าวว่า ผ้ายกนครศรีธรรมราช เมื่อก่อนใช้ในพระราชพิธี พระราชทานให้นักแสดงใส่ มาในปัจจุบันสูญหายไปหมด ไม่มีคนสืบทอด แต่สมเด็จพระราชินีให้คนหลายๆ คนไปช่วยกันฟื้นฟู พระราชทานให้มาแสดงชุดนี้เป็นพิเศษ หรือการปักต่างๆ ที่เคยเป็นงานในราชสำนักก็ได้รับการสืบทอดในโขนชุดนี้ด้วย
 
รามเกียรติ์ชุดจองถนน เป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยปรับปรุงเนื้อเรื่องให้กระชับ พร้อมนำเทคนิคการแสดงสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานเพื่อให้เหมาะกับยุคสมัย จัดแสดงระหว่างวันที่ 2 - 30 พฤศจิกายน ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง