จัดเก็บ "ลิขสิทธิ์เพลง" กับปัญหาศิลปินนำเพลงเก่ามาร้อง

Logo Thai PBS
จัดเก็บ "ลิขสิทธิ์เพลง" กับปัญหาศิลปินนำเพลงเก่ามาร้อง

ประเทศไทยเริ่มการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงอย่างถูกกฎหมายมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ความสับสนในการจัดเก็บรายได้ และ การนำไปใช้กลายเป็นปัญหาที่คนในวงการเพลงยังต้องประสบอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

<"">
 
<"">

กว่า 10 ปีที่ห่างหายกันไปเพราะนักร้องนำ อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ เสียชีวิตทำให้ พอส วงดนตรีร็อคที่กำลังโด่งดังในปี 2545 ต้องยุติบทบาท ซึ่งเสียงเรียกร้องของแฟนเพลงทำให้พวกเขากลับมารวมตัวเล่นคอนเสิร์ตอีกครั้งในปีนี้ แต่ความยุ่งยากในการนำเพลงในอดีตของตนมาร้อง และ ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ในอัตราที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นอาจเป็นการรวมตัวกันครั้งสุดท้าย เช่นเดียวกับอีกหลายศิลปินดังในอดีตที่ต้องประสบชะตากรรมไม่ต่างกันเมื่อกลับมารวมตัวอีกครั้งในยุคนี้ ตัวอย่างของปัญหาการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงในไทยที่แม้จะมีการจัดเก็บมาเกือบ 20 ปี แต่จนถึงวันนี้กลับยังเป็นปัญหาให้กับคนที่นำเพลงไปใช้

เมื่อรายได้จากการขายซีดีลดลงทำให้การค่าจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นรายได้หลักของธุรกิจเพลง แต่บริษัทดูแลลิขสิทธิ์ในประเทศไทยที่มีมากถึง 32 แห่งนำไปสู่ความยุ่งยากในการตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของสิทธิที่แท้จริง และกลายเป็นช่องว่างให้ผู้นำไปใช้ถูกข่มขู่ จากผู้ที่หาประโยชน์ด้วยการอ้างเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ ขณะที่การเก็บรายได้ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอนเพราะคอนเสิร์ตครั้งหนึ่งอาจมีการจัดเก็บได้ทั้งเหมาจ่าย 10,000 - 20,000 บาทต่อเพลง หรือ หักจากร้อยละ 3.5 ของรายได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจของเจ้าของสิทธิ์

ทางออกของปัญหาอย่างหนึ่งที่หลายคนคาดหวังคือการจัดตั้งองค์กรจัดเก็บลิขสิทธิ์กลาง ซึ่งมีรัฐเป็นคนกลางคอยควบคุม ตามแนวทางการศึกษาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ.2548 เพื่อจะลดความสับสนในการจัดเก็บ และมีการกำหนดมาตราฐานที่เป็นกลางมากขึ้น เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือฟิลิปปินส์ หากแต่ความสำเร็จของแนวทางนี้ขึ้นอยู่กับความยินยอมพร้อมใจ ในการแก้ปัญหาของคนในวงการเพลง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง